บาลีวันละคำ

พาลอเสวนา (บาลีวันละคำ 3,278)

พาลอเสวนา

ไม่คบคนพาล

คำในพระสูตร: อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง)

“พาลอเสวนา” อ่านว่า พา-ละ-อะ-เส-วะ-นา แยกศัพท์เป็น พาล + อเสวนา

(๑) “พาล”

บาลีอ่านว่า พา-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) พลฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ระวัง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ พ-(ลฺ) เป็น อา (พลฺ > พาล)

: พลฺ + ณ = พลณ > พล > พาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาคอยระวัง”

(2) ทฺวิ (สอง = บิดามารดา) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + อ ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น พา, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ลา (ลา > ล)

: ทฺวิ + ลา = ทฺวิลา + อ = ทฺวิลา > ทฺวิล > พาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาต้องพาไปด้วย”

“พาล” ตามนัยนี้หมายถึง เด็กอ่อน, เด็กน้อย

(3) พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ พ-(ลฺ) เป็น อา (พลฺ > พาล)

: พลฺ + ณ = พลณ > พล > พาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้าออก”

(4) ทฺวิ (สอง = ประโยชน์) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น พา, “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ ลุ (ลุ > ล)

: ทฺวิ + ลุ = ทฺวิลุ + อ = ทฺวิลุ > ทฺวิล > พาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตัดประโยชน์สองอย่าง” (คือตัดประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น)

“พาล” ตามนัยนี้หมายถึง คนพาล, คนโง่, ผู้อ่อนด้อยทางความคิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พาล” ไว้ดังนี้ –

1. ignorant (often with ref. to ignorance in a moral sense, of the common people, the puthujjana), foolish (as contrasted with paṇḍita (งี่เง่า [มักเกี่ยวกับความโง่หรือไม่รู้ของสามัญชนหรือปุถุชนในทางศีลธรรม], โง่ [ซึ่งตรงข้ามกับ ปณฺฑิต]); lacking in reason, devoid of the power to think & act right (ขาดเหตุผล, ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูก)

(2) young, new; newly risen (of the sun) (หนุ่ม, ใหม่; ขึ้นใหม่ ๆ [พูดถึงดวงอาทิตย์])

(3) a child; in wider application meaning a youth under 16 years of age (เด็ก; ใช้อย่างกว้าง ๆ โดยหมายถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พาล ๒, พาลา : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำวิเศษณ์) อ่อน, เด็ก, รุ่น. (ส., ป.); ชั่วร้าย, เกเร, เกะกะ, เช่น คนพาล. (คำกริยา) หาเรื่องทำให้วุ่นวาย, หาเรื่องทำให้เดือดร้อน, เช่น พาลหาเรื่อง พาลหาเหตุ. (คำนาม) คนชั่วร้าย, คนเกเร, เช่น คบคนพาลพาลพาไปหาผิด. (ป.).”

(๒) “อเสวนา”

อ่านว่า อะ-เส-วะ-นา รากศัพท์มาจาก อ + เสวนา

(ก) “อ”

อ่านว่า อะ คำเดิมคือ “น” (นะ) เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ

นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)

“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

(ข) “เสวนา” รากศัพท์มาจาก เสวฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ถ้าลง อา ปัจจัยอีก ก็เป็นอิตถีลิงค์

: เสวฺ + ยุ > อน = เสวน (เส-วะ-นะ, เป็นนปุงสกลิงค์= คำไม่แสดงเพศ)

: เสวน + อา = เสวนา (เส-วะ-นา, เป็นอิตถีลิงค์ = คำเพศหญิง)

“เสวน” หรือ “เสวนา” แปลทับศัพท์ว่า “การเสพ” หมายถึง การติดตาม, การคบหาสมาคม; การอยู่ร่วมกัน (following, associating with; cohabiting)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เสวนะ, เสวนา : (คำกริยา) คบ เช่น ควรเสวนากับบัณฑิต ไม่ควรเสวนากับคนพาล, (ภาษาปาก) พูดจากัน เช่น หมู่นี้พวกเราไม่ค่อยได้พบปะเสวนากันเลย. (คำนาม) การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น กลุ่มวรรณกรรมจัดเสวนาเรื่องสุนทรภู่. (ป.).”

ในภาษาไทย แม้พจนานุกรมจะบอกไว้ว่า เสวนะ เสวนา หมายถึง “คบ” (คือคบหาสมาคมกัน) แต่เวลานี้มักเข้าใจกันว่า เสวนา หมายถึง “พูดจากัน” ซึ่งความหมายนี้พจนานุกรมก็บอกไว้ชัดๆ ว่าเป็นภาษาปาก หรือที่เรามักเรียกเป็นคำฝรั่งว่า “สแลง”

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมก็บอกต่อมาอีกว่า เสวนะ เสวนา ยังหมายถึง “การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน” อีกด้วย

อาจเป็นเพราะคำนิยามนี้กระมัง คนส่วนมากจึงพากันเข้าใจว่า “เสวนา” มีความหมายอย่างเดียวกับ “สนทนา” และไม่ได้นึกถึงความหมายในภาษาเดิมที่ว่า เสวนา คือ “คบหาสมาคม” จนกระทั่งมีการเข้าใจกันว่า เสวนา คือ “คุยกัน” และ “ไม่เกี่ยวกับการคบหาสมาคม”

จึงขอย้ำว่า “เสวน” หรือ “เสวนา” ในบาลี และโดยเฉพาะในมงคลข้อ 1 แห่งมงคล 38 ประการนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงการพูดคุย หากแต่หมายถึง การติดตาม, การคบหาสมาคม; การอยู่ร่วมกัน (following, associating with; cohabiting)

น (นะ) + เสวนา ตามกฎไวยากรณ์บาลี :

(1) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อ” (อะ)

(2) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)

ในที่นี้ “เสวนา” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ (คือ ส) ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อ”

: น + เสวนา = นเสวนา > อเสวนา แปลว่า “การไม่คบหา” หมายถึง การไม่ปฏิบัติ, การละเว้นจาก [การคบค้าสมาคม] (not practising, abstinence from)

พาล + อเสวนา = พาลอเสวนา (พา-ละ-อะ-เส-วะ-นา) แปลว่า “การไม่คบคนพาล”

ในคัมภีร์ท่านไขความ “พาลอเสวนา” ไว้ที่คำว่า “อเสวนา” ดังนี้ –

…………..

อเสวนา นาม อภชนา อสหายตา อตํสมฺปวงฺกตา.

การไม่คบ การไม่มีคนพาลนั้นเป็นเพื่อน การไม่เข้าพวกด้วยคนพาลนั้น ชื่อว่า อเสวนา

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 17 หน้า 13

…………..

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 1 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “อเสวนา จ พาลานํ” (อะเสวะนา จะ พาลานัง) แปลตามศัพท์ว่า “การไม่คบซึ่งคนพาลทั้งหลาย”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า

1. อเสวนา จ พาลานํ (ไม่คบคนพาล — Bāla-asevanā: not to associate with fools; to dissociate from the wicked)

…………..

คัมภีร์มังคลัตถทีปนีสรุปไว้ว่า –

…………..

พาลอเสวนา พาลเสวนปฺปจฺจยภยาทิปริตฺตาเณน อุภยโลกหิตเหตุตฺตา … มงฺคลนฺติ วุตฺตํ.

การไม่คบคนพาลชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลในโลกทั้งสอง (คือโลกนี้และโลกหน้า) ด้วยการป้องกันเสียซึ่งเหตุแห่งปัญหาเช่นเกิดภัยเป็นต้นที่มีปัจจัยมาจากการคบคนพาล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นศัตรูกับบัณฑิต

: ทุกข์น้อยกว่าเป็นมิตรกับคนพาล

บาลีวันละคำ (3,278)

3-6-2564

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *