บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แด่นักโบราณคดีและนักสะสมของเก่า

แผ่นดินเมืองไทยเป็นที่ตั้งบ้านเมืองมาแต่เก่าก่อนนานไกล จึงมีซากเมืองและซากศาสนสถานอยู่ทั่วไป

เป็นงานของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีที่จะศึกษาให้รู้แน่ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น ตรงนี้เป็นเมืองอะไร ตรงนี้เป็นเทวสถานหรือวัดอะไร โบราณวัตถุชิ้นนี้คืออะไร รูปร่างที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร แหล่งเดิมของมันเป็นส่วนไหนของอะไรอยู่ตรงไหน ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ ผมนับถือนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีของเราที่ศึกษาสืบค้นจนสามารถบอกคนทั้งหลาย-หรือบอกโลกทั้งโลก-ได้

ปัญหาหนึ่งที่ผมอยากชวนให้คิด คือการปฏิบัติต่อโบราณวัตถุ 

ที่เรารู้เห็นกันทั่วไปก็คือ เมื่อพบโบราณวัตถุและศึกษาจนรู้แน่ว่าคืออะไรแล้ว เราก็จะเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุชิ้นนั้นไปเก็บหรือไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถาน แล้วก็เชิญชวนให้คนไปดูไปศึกษากัน

ในขณะที่ยังไม่มีใครคิดทำวิธีอื่น จะด้วยข้อจำกัดด้านวิชาการ หรือด้านงบประมาณ หรือด้านไหนก็ตาม เราก็คงต้องทำแบบนั้นไปก่อน แต่ผมขอแสดงทัศนะไว้ ณ ที่นี้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติต่อโบราณวัตถุเช่นนั้น

พูดประสานักเลงปากท่อก็อยากจะบอกว่า นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักอะไรๆ อีกก็ตามที่ควรมีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าแน่จริง เก่งจริง ฉลาดอย่างมีคุณธรรมจริง ท่านต้องซ่อม ต้องทำ แล้วนำโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ กลับไปประดิษฐานหรือติดตั้งในที่เดิมตำแหน่งเดิมของมันเหมือนกับที่มันเคยอยู่เมื่อสมัยที่เข้าสร้างมันขึ้นมา-ตามที่ท่านได้ศึกษาสืบค้นจนรู้แน่ชัดแล้วว่ามันคืออะไร รูปร่างที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร แหล่งเดิมของมันเป็นส่วนไหนของอะไรอยู่ตรงไหน ฯลฯ

ทำได้อย่างนี้จึงจะเรียกว่าแน่จริง

อาจไม่ต้องทำถึงขนาดชุบชีวิตโบราณสถานแห่งนั้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ทำแค่-คืนโบราณวัตถุชิ้นนั้นกลับสู่ที่เดิมของมันได้ครบถ้วน เท่านี้พอ

ใครอยากดูอยากชมอยากศึกษาเรียนรู้ เชิญไปดูไปชมที่แหล่งเดิมและตำแหน่งเดิมของมัน-เหมือนเมื่อวันที่มันถูกสร้างขึ้นมา ได้เห็นของจริง ไม่ต้องอิงจินตนาการ

แน่นอน เรามีข้อจำกัดเยอะแยะ เช่น เทคนิควิชาการ งบประมาณ เป็นต้น ดังที่ผมดักคอไว้แล้วข้างต้น รวมทั้งนโยบายของผู้มีอำนาจด้วย แล้วเราก็สรุปกันว่า-ทำไม่ได้ 

……………………………….

อาจารย์ชิต เหรียญประชา ศิลปินนักแกะสลักไม้ฝีมือชั้นครูของไทย เคยบอกว่า บานประตูพระวิหารวัดสุทัศนฯ ฝีมือสลักไม้ชิ้นเอกอุของไทย-หรือบางทีอาจจะของโลก-ที่ถูกไฟไหม้ชำรุดนั้น ท่านสามารถซ่อมทำให้กลับมาเหมือนเดิมได้ทุกอย่าง-ขาดอยู่อย่างเดียว ไม่มีงบประมาณ

……………………………….

การเอาโบราณวัตถุจากตำแหน่งเดิมของมันมาเก็บไว้ในที่อีกแห่งหนึ่ง แม้จะมีเหตุผลที่คนทั่วไปน่าจะยอมรับได้ แต่ผมคิดไม่เหมือนคนทั่วไป ผมยอมรับไม่ได้

แต่ผมก็ไม่ได้ขัดแค้นขุ่นเคืองอะไรนะครับ การยอมรับไม่ได้กับการขัดแค้นขุ่นเคืองเป็นคนละเรื่องกัน

ผมเชื่อโดยสุจริตว่า ด้วยขีดความสามารถของมนุษย์ยุคสมัยเรา เราสามารถทำได้ ดังนั้น ที่ยังทำไม่ได้-ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ นักเลงปากท่อขอบอกว่า – แบบนี้ยังไม่แน่จริง (นี่หว่า) 

…………………

อีกเรื่องหนึ่ง-แต่เป็นเรื่องเดียวกัน-ที่อาจช่วยให้มองเห็นแนวคิดของผมชัดขึ้น ก็คือ ค่านิยมของของเศรษฐีนักสะสมของเก่า ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นที่รู้กันว่า-คือพวกฝรั่ง แต่สมัยนี้คนไทยด้วยกันนี่เองก็อาจมีค่านิยมแบบนั้น – นั่นก็คือรับซื้อโบราณวัตถุเอาไปเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว อาจไม่ถึงกับเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่มันก็คือ-เอาไปครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว 

ค่านิยมแบบนี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 

คนพวกนั้นคิดอะไรจึงทำอย่างนั้น?

โบราณวัตถุหลายๆ ชิ้นทำขึ้นด้วยศรัทธาในศาสนา ทำเป็นเครื่องบูชา ทำขึ้นเพื่อให้คนทั้งหลายได้ร่วมชื่นชมอนุโมทนา

คนชนิดนั้นใช้สิทธิ์อะไร (อ๋อ ก็สิทธิ์ที่ข้ารวย ข้ามีเงินซื้อไงล่ะ) จึงเอาโบราณวัตถุที่ทำขึ้นด้วยศรัทธาของประชาชนไปครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว ทั้งๆ ที่ตัวผู้ครอบครองนั่นเองก็ไม่ได้นับถือเลื่อมใสในโบราณวัตถุชิ้นนั้น หรือแม้แต่ในศาสนาที่ผู้สร้างโบราณวัตถุชิ้นนั้นนับถือด้วยซ้ำไป

ต้องพูดคำเดิม – คนพวกนั้นคิดอะไรจึงทำอย่างนั้น?

ผมเชื่อว่า-แม้ถึงวันนี้ ค่านิยมที่เขาเห็นว่าเลิศวิไลชนิดนั้นก็ยังมีผู้นิยมประพฤติอยู่ โดยเฉพาะในหมู่ชาวต่างชาติ ดังที่ยังปรากฏอยู่เนืองๆ ว่า พระพุทธรูปเก่าแก่ตามวัดต่างๆ ก็ยังถูกโจรกรรมอยู่ไม่ว่างเว้น

ขโมยพระพุทธรูปเก่าแก่ไปทำไม

เอาไปขายแหล่งรับซื้อของเก่า

แหล่งรับซื้อของเก่าเอาไปทำอะไร

เอาไปขายให้ฝรั่ง

ฝรั่งเอาไปทำอะไร – เอาไปกราบไหว้บูชาอย่างนั้นหรือ

คนสร้าง เขาสร้างเพื่อเคารพบูชา

คนซื้อของโจรเอาไปครอบครอง ไม่ได้ครอบครองเพื่อเคารพบูชา

ใช้สำนวนใหม่ก็คงต้องว่า-นี่มันตรรกะแบบไหนกัน 

ผมว่าถึงเวลาที่ควรจะมีสำนึก และเลิกค่านิยมเลวทรามแบบนี้กันได้แล้ว

เห็นแนวคิด-คืนโบราณวัตถุกลับสู่ที่เดิมและตำแหน่งเดิมของมัน-ชัดขึ้นไหมครับ? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๑:๐๗

…………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *