ปฐมสมโพธิ (บาลีวันละคำ 3,279)
ปฐมสมโพธิ
คัมภีร์พุทธประวัติที่ควรอ่าน
ภาษาไทยอ่านว่า ปะ-ถม-มะ-สม-โพด ก็ได้
อ่านว่า ปะ-ถม-สม-โพด (ไม่มี -มะ-) ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
“ปฐมสมโพธิ” ประกอบด้วยคำว่า ปฐม + สมโพธิ
(๑) “ปฐม”
บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย
: ปฐฺ + อม = ปฐม แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด”
(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม (อะ-มะ) ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ
: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น”
“ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)
(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)
(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฐม, ปฐม– : (คำวิเศษณ์) ประถม, ลำดับแรก, ลำดับเบื้องต้น; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลจุลจอมเกล้าว่า ปฐมจุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ. (ป.).”
(๒) “สมโพธิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโพธิ” (มีจุดใต้ มฺ) อ่านว่า สำ-โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: สํ + พุธฺ = สํพุธฺ + อิ = สํพุธิ > สมฺพุธิ > สมฺโพธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้พร้อม” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้พร้อม” หมายถึง การตรัสรู้ (the highest enlightenment)
บาลี “สมฺโพธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมโพธิ” อ่านว่า สม-โพด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“สมโพธิ : (คำนาม) การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. (ป.).”
ปฐม + สมฺโพธิ = ปฐมสมฺโพธิ บาลีอ่านว่า ปะ-ถะ-มะ-สำ-โพ-ทิ แปลว่า “การตรัสรู้เป็นครั้งแรก”
บาลี “ปฐมสมฺโพธิ” ในภาษาไทย ใช้ทับศัพท์เป็น “ปฐมสมโพธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า อ่านว่า ปะ-ถม-มะ-สม-โพด ก็ได้ อ่านว่า ปะ-ถม-สม-โพด (ไม่มี -มะ-) ก็ได้ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“ปฐมสมโพธิ : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า. (ป.).”
ขยายความ :
“ปฐมสมโพธิ” แปลว่า “การตรัสรู้เป็นครั้งแรก” ชวนให้เข้าใจว่า มีการตรัสรู้ครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆ มาอีก
พึงทราบว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ครั้งเดียว ไม่มีครั้งแรกครั้งหลัง ดังนั้น คำว่า “ปฐมสมโพธิ” ที่เป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า จึงไม่ได้มีความมุ่งหมายจะให้แปลว่า “การตรัสรู้เป็นครั้งแรก” แต่น่าจะหมายถึง เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านับตั้งแต่เบื้องต้น (คือ “ปฐม-” หมายถึง “เบื้องต้น”) หรือแปลแบบรักษาศัพท์เดิมและเติมคำเพื่อให้ได้ความว่า “(ประวัติของพระพุทธเจ้านับตั้งแต่) ปฐมคือเริ่มต้น (จนถึง) ได้ตรัสรู้ (และหลังจากนั้นมาจนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน)” นั่นคือ มีคำว่า “ปฐม” และ “สมโพธิ” เป็นแกนเพียง 2 คำ นอกนั้นเป็นคำขยายที่เพิ่มเข้ามา
ที่ต้องแปลขยายความจากคำที่เป็นชื่อคัมภีร์ ก็เพราะคัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้าฉบับนี้ไม่ได้กล่าวเฉพาะเรื่องเมื่อแรกตรัสรู้ (ตามชื่อคัมภีร์) เท่านั้น หากแต่กล่าวถึงความเป็นมาตั้งแต่บำเพ็ญพระบารมีจนมาอุบัติในโลกมนุษย์ ได้ตรัสรู้ ประกาศพระศาสนา เสด็จดับขันธปรินิพพาน และความเป็นไปหลังพุทธปรินิพพาน จนถึงพระศาสนาอันตรธานเป็นที่สุด
แถม :
อนึ่ง พึงทราบว่า “คัมภีร์ว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า” ตามที่พจนานุกรมฯ ให้คำนิยามไว้นั้น ถ้าหมายถึงหนังสือที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “ปฐมสมโพธิ” นั้น มีชื่อเต็มว่า “พระปฐมสมโพธิกถา”
ในกรณีที่เป็นชื่อเต็มเช่นนี้ ต้องอ่านว่า พฺระ-ปะ-ถม-มะ-สม-โพ-ทิ-กะ-ถา ไม่ใช่ พฺระ-ปะ-ถม-มะ-สม-โพด-กะ-ถา
คือในกรณีมีคำว่า “-กถา” ต่อท้ายเป็น “-สมโพธิกถา” –
อ่านว่า -สม-โพ-ทิ-กะ-ถา
ไม่ใช่ -สม-โพด-กะ-ถา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาษาไทย อ่านผิดก็ไม่ตกนรก
: แต่ไม่ตกนรกด้วย อ่านถูกด้วย ดีกว่า
—————–
#บาลีวันละคำ (3,279)
4-6-64