เข้าแผน
ปัญหาในวงการพระศาสนา ผมมี “ข้อสังเกต” บางประการที่เคยนำเสนอมาบ้างแล้ว และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกบางประการ จึงจะขอสรุปรวมมาเสนอญาติมิตรอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
๑ ถ้าใครหยิบยกเอาการกระทำก็ตาม นโยบายก็ตามของบางศาสนาในเมืองไทยขึ้นมาพูดเตือนกันให้ระมัดระวังว่ากำลังรุกคืบเพื่อขยายอิทธิพลในประเทศไทย แม้แต่การทำร้ายพระสงฆ์ทางภาคใต้ ใครยกขึ้นมาพูด
ก็จะมีเสียงทักท้วงดังขึ้นพร้อมๆ กันว่า การเอาเรื่องแบบนั้นมาพูดน่ะก่อให้เกิดความแตกแยก และทำให้คนไทยหวาดระแวงกัน
๒ ถ้าชาวพุทธหยิบยกการกระทำ คำสอน หรือพฤติกรรมบางอย่างของวัดก็ตาม ของพระสงฆ์ก็ตาม หรือของสำนักอื่นใดของชาวพุทธก็ตาม ขึ้นมาพูดมาวิจารณ์ว่าไม่ถูกไม่ควรอย่างนั้นอย่างนี้
ก็จะมีเสียงทักท้วงดังขึ้นพร้อมๆ กันว่า การที่เอามาพูดนั้นคือชาวพุทธถูกยุแหย่ให้ทะเลาะกันเอง
เคยได้ยินมีผู้ใช้คำว่า “พุทธถล่มพุทธ” ซึ่งฟังดูดุเดือดดี หมายความว่า เป็นการกระทำของผู้หวังจะทำลายพระพุทธศาสนา และหมายความเป็นนัยๆ ต่อไปว่า ใครทำไม่ถูกไม่ควรอย่างไรก็ไม่ควรเอามาตำหนิ ควรอยู่กันเงียบๆ จึงจะไม่ไป “เข้าแผน” ของเขา การยกเรื่องขึ้นมาตำหนิถือว่าเป็นการทำลายกันเอง
ข้อสังเกตก็คือ สังคมเราควรจะอยู่กันแบบ-ใครทำผิดทำถูกอย่างไรก็ไม่ต้องเอามาพูดกันอย่างนั้นหรือ
ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ไว้เรื่องหนึ่ง ขอเชิญตามไปอ่านนะครับ-ถ้าพอมีเวลา
……………………………………
……………………………………
๓ ตอนนี้ผมมีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว นั่นก็คือ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง ถกเถียง กล่าวหากันด้วยเรื่องใดๆ ก็ตาม-โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ กับวัด กับการพระศาสนา เวลานี้จะมีผู้สันทัดกรณีบางจำพวกออกมากล่าวว่า “เรื่องนี้ผม/ฉัน/ข้าพเจ้ารู้เบื้องหลังลึกๆ มาแล้ว แต่พูดไม่ได้”
หมายความว่า เรื่องนั้นปัญหานั้นที่กำลังเป็นข้อพิพาทกันอยู่นั้นท่านผู้นั้นรู้มาเป็นอย่างดีแล้วว่า สาเหตุจริงๆ คืออะไร หรือใครอยู่เบื้องหลังที่แท้จริง และผู้ที่ทำเรื่องนั้นขึ้นมามีวัตถุประสงค์อะไร-ข้าพเจ้ารู้มาหมดแล้ว
ถ้าหยุดไว้แค่นี้-คือหยุดแค่รู้มาหมดแล้วว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร-ผมว่าต้องถือว่าเป็นโชคดีมากๆ
โชคดีที่มีคนออกมาบอกเราแล้วว่า เขารู้แล้วว่าต้นตอของปัญหาอยู่ตรงไหน เราจะได้แก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างถูกจุดตรงประเด็นกันเลยละทีนี้
แต่เมื่อฟังต่อไป กลายเป็นว่า- “… พูดไม่ได้”
มันแปลว่าอะไรกัน?
รู้สาเหตุของปัญหา แต่ทว่า-พูดไม่ได้
ในทางยุทธศาสตร์ของทหาร เขามีทฤษฎี Need to know คือให้รู้เท่าที่จำเป็น
แม่ทัพต้องรู้ว่า การรบครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะแพ้หรือชนะ
แต่สำหรับพลทหารคนสุดท้าย รู้ว่ามีกระสุนพอจะยิงได้อีกกี่นัด-แค่นั้นก็พอ
ในการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ การรู้สาเหตุของปัญหาเป็นความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะจะทำให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด
แต่กรณีนี้-รู้เบื้องหลังลึกๆ แล้ว แต่พูดไม่ได้-นี่ ไม่ทราบว่าจะเข้ากับทฤษฎีไหน หรือว่าจะต้องตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมาใหม่
—————-
ผมเชื่อว่า ปัญหาต่างๆ นั้น ยิ่งคนทั้งหลายรู้เบื้องหลังที่แท้จริงมากเพียงไร ปัญหาก็จะยิ่งถูกแก้ได้ถูกจุดมากเพียงนั้น
ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือตัวเราแต่ละคน ซึ่งอาจจะสนับสนุนหรือคัดค้านในปัญหานั้นๆ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้ท่าทีของเราต่อปัญหานั้นผิดพลาด ไม่ตรงกับที่ควรจะเป็น
ถ้ารู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร จากที่เคยสนับสนุนก็อาจจะเปลี่ยนเป็นคัดค้าน หรือจากที่เคยคัดค้านก็จะเปลี่ยนเป็นสนับสนุน ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดผลตรงตามที่ควรจะเป็น
เพราะฉะนั้น ถ้าใครรู้เบื้องหลังเบื้องลึกอะไรมา และถ้าต้องการจะแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นเกิดผลดี ทางที่ถูกก็ควรจะบอกแจ้งให้คนทั้งหลายได้รับรู้กันให้มากๆ ด้วย
อาจจะมีปัญหาตรงที่ว่า-เรื่องบางเรื่องไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ จะทำอย่างไร
คงต้องถามว่า-ก็แล้วตัวท่านผู้รู้เรื่องเบื้องหลังเบื้องลึกนั้นมา ท่านไปทำอย่างไร หรือไปท่าไหนจึงไปรู้มาได้ แล้วจะทำให้คนทั้งหลายรู้ด้วยวิธีเช่นนั้นบ้างได้หรือไม่
—————-
ข้อสังเกตที่ว่ามานี้เป็นแต่ชวนให้คิดเท่านั้นนะครับ ผมไม่ได้ชี้นำว่าการพูดเช่นนั้นหรือการอ้างเหตุผลเช่นนั้นถูกหรือผิด เพียงแต่เห็นว่า ปัญหาต่างๆ นั้น ถ้ามีข้อสังเกตกำกับไปด้วยกับการมองหรือการพิจารณา ก็จะช่วยทำให้เรามีสติมากขึ้น ก่อนที่จะคล้อยตาม เห็นด้วย วางเฉย หรือคัดค้าน
ไม่ใช่ว่า-แค่มีใครพูดขึ้นว่า “ก่อให้เกิดความแตกแยก” หรือ “เราถูกเขายุให้ทะเลาะกัน” หรือ “ถ้ารู้เบื้องลึกอย่างที่ฉันรู้แล้วคุณจะหนาว” ก็เลยงงงัน หวั่นกลัว ไม่ทำอะไร หรือทำอะไรไม่ถูกกันไปหมด
เพราะท่าทีแบบนี้อาจจะไป “เข้าแผน” ของใครเข้าโดยไม่รู้ตัวไปอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๕:๒๒
…………………………..