ปารมี [1] (บาลีวันละคำ 203)
ปารมี [1]
อ่านว่า ปา-ระ-มี
ภาษาไทยใช้ว่า “บารมี” (ป ปลา แผลงเป็น บ ใบไม้) อ่านว่า บา-ระ-มี
“ปารมี” ปรุงขึ้นจาก ปรม + ณี (ปัจจัย) = ปารมี แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้มีปรมะ” (ดูความหมายที่คำว่า “ปรม”)
“ปารมี – บารมี” ยังมีคำแปลตามศัพท์อีกหลายความหมาย คือ –
1. ภาวะหรือการกระทำของผู้ประเสริฐ
2. ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องถึงภาวะสูงสุดคือพระนิพพาน
3. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน
4. ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องให้ถึงพระนิพพาน
5. ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด
6. ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์อื่นไว้ในตนด้วยการประกอบความดีอย่างพิเศษ
7. ข้อปฏิบัติที่หมดจดอย่างยิ่งจากมลทินคือสังกิเลส
8. ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานโดยพิเศษ
9. ข้อปฏิบัติที่รู้ถึงโลกหน้าได้ด้วยญาณวิเศษเหมือนรู้โลกนี้
10. ข้อปฏิบัติที่ใส่กลุ่มความดีมีศีลเป็นต้นไว้ในสันดานตนอย่างดียิ่ง
11. ข้อปฏิบัติของผู้เบียดเบียนศัตรูคือหมู่โจรกิเลส
12. ข้อปฏิบัติที่หมดจดในพระนิพพาน
13. ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
14. ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานและยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน
15. ข้อปฏิบัติที่รู้พระนิพพานตามเป็นจริง
16. ข้อปฏิบัติที่บรรจุเหล่าสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
17. ข้อปฏิบัติที่เบียดเบียนข้าศึกคือกิเลสของเหล่าสัตว์ในพระนิพพาน
ความหมายของ “บารมี” ที่เข้าใจกันในภาษาไทยคือ คุณความดีที่เคยสั่งสมมา, ความสูงส่งแห่งบุญ, คุณสมบัติที่ทําให้ยิ่งใหญ่ เช่นว่า ชมพระบารมี พระบารมีปกเกล้าฯ พ่ายแพ้แก่บารมี
ความหมายรวบยอดของ “บารมี” ก็คือ “คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง”
“ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย” : วาทะสมเด็จโต
บาลีวันละคำ (203)
27-11-55
ปารมี (ศัพท์วิเคราะห์)
ภาวะหรือการกระทำของผู้ประเสริฐ
ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องถึงภาวะสูงสุดคือพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องให้ถึงพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด
ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์อื่นไว้ในตนด้วยการประกอบความดีอย่างพิเศษ
ข้อปฏิบัติที่หมดจดอย่างยิ่งจากมลทินคือสังกิเลส
ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานโดยพิเศษ
ข้อปฏิบัติที่รู้ถึงโลกหน้าได้ด้วยญาณวิเศษเหมือนรู้โลกนี้
ข้อปฏิบัติที่ใส่กลุ่มความดีมีศีลเป็นต้นไว้ในสันดานตนอย่างดียิ่ง
ข้อปฏิบัติของผู้เบียดเบียนศัตรูคือคือหมู่โจรกิเลส
ข้อปฏิบัติที่หมดจดในพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่ผูกสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานและยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่รู้พระนิพพานตามเป็นจริงที่บรรจุเหล่าสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติที่เบียดเบียนข้าศึกคือกิเลสของเหล่าสัตว์ในพระนิพพาน
ปารมี (บาลี-อังกฤษ)
ความเต็มเปี่ยม, สถานะอันสูงสุด
ปารมี อิต. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
บารมี, คุณความดีที่เคยสั่งสมมา, ความสูงส่งแห่งบุญ.
บารมี (ประมวลศัพท์)
คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง มี ๑๐ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา; ดู ปรมัตถบารมี, อุปบารมี
บารมี
[-ระมี] น. คุณความดีที่ควรบําเพ็ญมี ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม คือ บวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา เรียกว่า ทศบารมี; คุณความดีที่ได้บําเพ็ญมา, คุณสมบัติที่ทําให้ยิ่งใหญ่, เช่นว่า ชมพระบารมี พระบารมีปกเกล้าฯ พ่ายแพ้แก่บารมี. (ป. ปารมี).
จากหนังสือ ทศบารมี วิถีสู่พุทธภูมิ
๑ มาจากคำว่า ปรม (ปะ ระ มะ) ที่เอามาใช้ในภาษาไทยว่า บรม แปลว่า ยอดเยี่ยมกว่าใครใดทั้งสิ้นเพราะมีคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ หรือเพราะทำคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการให้เต็ม (ปรม = ผู้ทำให้เต็ม) หรือเพราะรักษาคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ (ปรม = ผู้รักษา)
ต่อจากนั้นก็เอา ปรม ไปบวกกับ อี = ปรม + อี ก็เป็น ปรมี
อี เป็นคำประเภทที่เรียกว่า “ปัจจัย” ในภาษาบาลี แต่ถ้าจะว่าให้ถึงที่จริงๆ อี คำนี้ เดิมเป็น ณี แล้วลบ ณ เสีย เหลือแต่สระ อี และตามหลักไวยากรณ์ ปัจจัยที่มี ณ อยู่ด้วยเช่นนี้ เมื่อไปบวกกับคำอะไรที่พยางค์แรกเป็นเสียงสั้น ก็มีอำนาจทำให้เป็นเสียงยาวขึ้น
ในที่นี้ คำว่า ปรม ป เป็นเสียงสั้น จึงถูกทำให้เป็นเสียงยาว คือจาก ป ก็เป็น ปา
ปรม ก็กลายรูปมาเป็น ปารม (ปา ระ มะ)
ปรม = ปารม + อี = ปารมี แปลว่า ภาวะของผู้มีปรมะ หรือ การกระทำของผู้มีปรมะ หมายถึงการบำเพ็ญคุณธรรมมีทาน (การให้) เป็นต้น
๒ คำว่า ปรม ยังมีที่มาทางอื่นอีก คือ มาจากคำว่า
ปร = ผู้อื่น + ม = ผูกไว้
= ปรํ + มวติ แปลว่า ย่อมผูกผู้อื่นไว้ (ด้วยความดี)
ปร = ผู้อื่น + ม = ขัดเกลาให้หมดจด
= ปรํ + มชฺชติ แปลว่า ย่อมขัดเกลาผู้อื่นให้หมดจด
ปร = นิพพาน + ม = ถึง
= ปรํ + มยติ แปลว่า ย่อมถึงนิพพาน
ปร = โลก + ม = กำหนดรู้
= ปรํ มุนาติ แปลว่า ย่อมกำหนดรู้โลก
ปร = คุณความดี + ม = ตักตวงไว้
= ปรํ มิโนติ แปลว่า ย่อมตักตวงคุณความดีไว้
ปร = ปฎิปักษ์ + ม = ทำลาย
= ปรํ มินาติ แปลว่า ย่อมทำลายปฎิปักษ์
๓ คำว่า ปารมี ก็มีที่มาหลายทาง คือมาจากคำว่า
ปาร = นิพพาน + ม = ผูกไว้
= ปาเร + มวติ แปลว่า ผูกเวไนยสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
ปาร = นิพพาน + ม = ขัดเกลาให้หมดจด
= ปาเร มชฺชติ แปลว่า ขัดเกลาเวไนยสัตว์ให้บริสุทธิ์ในพระนิพพาน
ปาร = นิพพาน + ม = ถึง
= ปารํ + มยติ แปลว่า ไป – ถึง – บรรลุถึงพระนิพพาน
ปาร = นิพพาน + ม = กำหนดรู้
= ปารํ + มุนาติ แปลว่า กำหนดรู้ซึ่งพระนิพพาน
ปาร = นิพพาน + ม = ตักตวงไว้
= ปาเร + มิโนติ แปลว่า ตักตวง คือเก็บเวไนยสัตว์ไว้ในพระนิพพาน
ปาร = นิพพาน + ม = ทำลาย
= ปาเร + มินาติ แปลว่า ทำลาย คือกำจัดข้าศึกคือกิเลสของเวไนยสัตว์ไว้ที่พระนิพพาน
สรุปว่า ปารมี มาจาก ปาร = นิพพาน + ม + อี (หรือ ณี) = ปารมีซึ่งมีความหมายหลายอย่าง