ธรรมสากัจฉา (บาลีวันละคำ 3,271)
ธรรมสากัจฉา
พูดจากันโดยธรรม
อ่านว่า ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + สากัจฉา
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในคำว่า “ธรรมสากัจฉา” นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมถึงความหมายทุกอย่างของคำว่า “ธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา
(๒) “สากัจฉา”
เขียนแบบบาลีเป็น “สากจฺฉา” อ่านว่า สา-กัด-ฉา รากศัพท์มาจาก สห (คำนิบาต = กับ, พร้อมกัน, ด้วยกัน) + กถา (คำพูด, การพูด) + ฉ ปัจจัย, แปลง สห เป็น ส แล้วทีฆะ อะ เป็น อา (สห > ส > สา), แปลง ถ ที่ กถา เป็น จฺ แล้วลบสระหน้า คือ อา ที่ กถา (กถา > กจา > กจฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สห + กถา = สหกถา + ฉ = สหกถาฉ > สกถาฉ > สากถาฉ > สากจาฉ > สากจฺฉ + อา = สากจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การพูดกันด้วยดี” หมายถึง การสนทนา, การพูดคุย, การถกแถลง (conversation, talking over, discussing)
“สากจฺฉา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สากัจฉา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สากัจฉา : (คำนาม) การพูดจา, การปรึกษา. (ป.).”
ธมฺม + สากจฺฉา = ธมฺมสากจฺฉา (ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา) แปลว่า “การสนทนาธรรม” (conversation about the Dhamma)
“ธมฺมสากจฺฉา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธรรมสากัจฉา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรรมสากัจฉา : (คำนาม) การสนทนาธรรม. (ป. ธมฺมสากจฺฉา).”
ขยายความ :
“ธมฺมสากจฺฉา = ธรรมสากัจฉา” ท่านจัดเป็นอุดมมงคลข้อหนึ่งในมงคล 38 ประการ ดังปรากฏในมงคลสูตร ดังนี้ –
…………..
ขนฺตี จ โสวจสฺสตา
สมณานญฺจ ทสฺสนํ
กาเลน ธมฺมสากจฺฉา
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
มีความอดทน 1 เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย 1
พบเห็นสมณะ 1
สนทนาธรรมตามกาล 1
สี่ประการนี้เป็นอุดมมงคล
ที่มา: มงคลสูตร ขุทกนิกาย ขุทกปาฐะ
พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 6
และมงคลสูตร ขุทกนิกาย สุตตนิบาต
พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 318
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] ขยายความไว้ว่า –
กาเลน ธมฺมสากจฺฉา : สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ (religious discussion at due seasons; regular or opportune discussion of Truth)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขัดแย้งกันอย่างบัณฑิต
: ดีกว่าเป็นมิตรกันอย่างพาล
—————
(ตามคำถามของ Anne Chalee)
#บาลีวันละคำ (3,271)
27-5-64