บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๒-

การรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ (๑)

———————-

คือการรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้ารักษาวิถีชีวิตที่ถูกต้องของสงฆ์ไว้ไม่ได้

ก็รักษาพระศาสนาที่ถูกต้องไว้ไม่ได้

เมื่อมีผู้พูดว่าพระพุทธศาสนากำลังมีภัย กำลังจะถูกทำลาย

ก็จะมีผู้ออกมาแย้งว่า ไม่มีใครสามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้ โดยอธิบายว่าพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นสัจธรรม เป็นของจริงประจำโลก ไม่มีใครสามารถทำลายได้

อ้างพุทธพจน์มายืนยันด้วยว่า “ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้” 

แต่พระพุทธพจน์ไม่ได้จบลงแค่นั้น ยังตรัสต่อไปอีกว่า – 

………………………….

อถโข  อิเธว  เต  อุปฺปชฺชนฺติ  โมฆปุริสา  เย  อิมํ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปนฺติ เสยฺยถาปิ  กสฺสป  นาวา  อาทิเกเนว  โอปิลาวติ. 

ดูก่อนกัสสป ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหากเกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหนนั่นเอง

ที่มา: สัทธรรมปฏิรูปกสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๓ 

………………………….

โมฆบุรุษคือใคร ก็คือคนที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนา แต่ไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ซ้ำยังปฏิบัติผิดๆ อีกด้วย พวกนี้แหละที่ทำลายพระศาสนาได้ 

……………

พระพุทธศาสนานั้นไม่มีกองกำลังติดอาวุธไว้ป้องกันตนเอง ไม่ต้องกล่าวไปถึงว่าจะมีไว้ทำร้ายใคร 

พระพุทธศาสนาไปอยู่ที่ไหน ก็อาศัยผู้บริหารปกครองบ้านเมืองนั้นทำหน้าที่ “อารักขา” 

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธศาสนาก็อยู่ได้ 

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่เอาใจใส่ ไม่เห็นความสำคัญ หรือถ้าถึงขั้นเป็นมิจฉาทิฐิ พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ไปไม่รอด

ในเมืองไทยของเรานี้ แต่เดิมมาพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ทุกพระองค์ทรงเป็นสัมมาทิฐิ ทรงมีพระราชศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ในอันที่จะจัดการทำนุบำรุง และในอันที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพระพุทธศาสนาเอง 

แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ได้อำนาจไปจากพระเจ้าแผ่นดินเอาไปแต่อำนาจ แต่ไม่ได้เอาหน้าที่ในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาไปด้วยให้เต็มรูป 

พระพุทธศาสนาในบ้านเมืองของเราแม้จะดำรงอยู่ได้เพราะประชาชนนับถือ แต่ก็ไม่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากผู้บริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่และอย่างจริงจังจริงใจแต่อย่างใด

กล่าวได้อย่างไม่ผิดว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีผู้บริหารบ้านเมืองคนใดเลยแม้แต่คนเดียว ที่กล้าแอ่นอกออกปกป้องพระพุทธศาสนาในยามมีภัย และอุทิศกายใจปรนนิบัติพระพุทธศาสนาเหมือนกับที่พระเจ้าแผ่นดินของเราได้เคยทรงกระทำมาในกาลก่อน

——-

ที่เกิดปัญหาทุกวันนี้ก็มีสาเหตุมาจากไม่เอาพระธรรมวินัยเป็นหลักนั่นเอง

เวลานี้ปัญหาหยั่งลึกลงไปถึงขั้นที่ว่า พระธรรมวินัยที่ถูกต้องคืออะไรอย่างไร-แค่นี้ก็ไม่ได้ศึกษา สำเหนียก อบรม ถ่ายทอด ย้ำเตือนกัน 

ใคร สำนักไหน จะประพฤติปฏิบัติอะไรอย่างไร ก็ปล่อยให้ทำกันไปเหมือนว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ใครจะมาห้ามหรือมาจำกัดขอบเขตมิได้-ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นไปแล้ว

เหตุผลอย่างหนึ่งที่นิยมยกขึ้นมาอ้างก็คือ ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป จะมามัวยึดถือพระธรรมวินัยที่มีมาตั้งสองพันปีมาเป็นหลักปฏิบัติไม่ได้อีกแล้ว ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จึงจะอยู่ได้

ข้ออ้างนี้ฟังเผินๆ ก็มีเหตุผล แต่ตรึกตรองดูให้ดีเถิด จะเห็นว่าน่ากลัว 

พระศาสนาจะสูญเร็วพลันก็เพราะข้ออ้างเช่นนี้นี่แล

ยกตัวอย่าง เวลานี้พระขับรถเอง มีให้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว-ด้วยข้ออ้างว่าเป็นความจำเป็นตามสภาพสังคม- ต่อไปพระทำอะไรเหมือนฆราวาสก็คงทำได้หมด-เพราะความจำเป็นตามสภาพสังคม-น่ากลัวนะขอรับ

คงจะมีหลายท่านอยากถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร?

คำตอบของกระผมก็คือ จะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องรักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงอยู่

คำว่า “ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จึงจะอยู่ได้” นั้นต้องคำนึงให้รอบคอบว่า อะไรอยู่ได้ ใครอยู่ได้

ถ้าดำรงพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น ถ้าพระธรรมวินัยอยู่ไม่ได้ อะไรหรือใครก็ตามที่อยู่ได้นั้น แม้จะประทับตราหรือแสดงรูปลักษณ์ว่าเป็นพระพุทธศาสนา แต่ก็ย่อมจะไม่ใช่ “พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง” เสียแล้วแหละขอรับ

—–

หลักสังเกตของผมก็คือ ถ้าพระทำอะไรๆ ได้เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาทำกัน พระก็หมดสภาพ 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะรักษาสภาพของพระเอาไว้ให้ได้ พระก็ต้องทำตามแบบของพระ 

“แบบของพระ” คืออะไร 

ตรงนี้แหละที่ต้องศึกษา ทั้งตัวพระเอง ทั้งตัวญาติโยมที่จะนับถือเลื่อมใส 

เวลานี้ชาวพุทธที่ไม่รู้จักแบบของพระมีมากขึ้น 

ทำให้พระประพฤติไม่ถูกแบบมากขึ้น 

และทำให้ญาติโยมนับถือพระไม่ถูกแบบกันอยู่ทั่วไป 

แล้วก็มองกันไปเป็นภาพรวมว่า นั่นคือพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ทำแบบนั้นหาใช่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องไม่

ทางแก้ก็คือ ต้องถอยกลับมาศึกษาเรียนรู้แบบของพระกันให้มากและให้แม่นยำยิ่งขึ้น

แต่การพูดว่า “ต้องศึกษาเรียนรู้แบบของพระกันให้มากและให้แม่นยำยิ่งขึ้น” ก็เท่ากับไม่ได้พูดอะไร คือไม่มีความหมายอะไร 

เพราะพูดเสร็จ เขียนเสร็จ อ่านกันเสร็จ ทุกคนก็กลับไปอยู่กันเฉยๆ เหมือนเดิม 

พอพระทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ก็เอาความเข้าใจส่วนตัวเข้าไปจับ แล้วก็นับถือหรือไม่นับถือไปตามเกณฑ์เดิมๆ ของแต่ละคนอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ก็ต้องย้อนไปพูดกับผู้บริหารการพระศาสนาในบ้านเราว่า ในฐานะที่มีตำแหน่งมีหน้าที่ ท่านคิดจะทำอย่างไรที่จะให้ชาวพุทธในบ้านเราศึกษาเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของ “แบบของพระที่ถูกต้อง” กันให้มากขึ้น 

และเวลานี้ทำอะไรกันบ้างหรือยัง?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๗:๒๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *