ปวารณาบัตร (บาลีวันละคำ 1,251)
ปวารณาบัตร
อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา-บัด
ประกอบด้วย ปวารณา + บัตร
(๑) “ปวารณา”
อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ป + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปวารณา” ไว้ว่า –
1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้
(๒) “บัตร”
บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) มีหลายความหมาย เฉพาะความหมายที่ประสงค์ในที่นี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้
“ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” ใช้ในความหมายว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป
เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร
ปวารณา + บัตร = ปวารณาบัตร พูดเป็นคำไทยว่า “ใบปวารณา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ปวารณา” ก็มีคำว่า “ใบปวารณา” ในคำนิยามว่า –
“ปวารณา : ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา.”
“ปวารณาบัตร” หรือ “ใบปวารณา” หมายถึง หนังสือเป็นแผ่นกระดาษมีข้อความเป็นใจความว่า เจ้าภาพขอถวายปัจจัยเป็นมูลค่าเท่านั้นๆ แด่พระสงฆ์ ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรแล้ว ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรนั้น
มีพุทธบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุรับเงินทอง (วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) ถ้าขืนรับ มีความผิดที่เรียกว่า “ต้องอาบัติ”
ชาวบ้านที่มีศรัทธาปรารถนาจะถวายเงินเพื่อใช้จัดซื้อหาของฉันของใช้จึงต้องใช้วิธีมอบเงินนั้นให้แก่ไวยาวัจกร (ผู้ทำหน้าที่รับ-จ่ายเงินแทนพระ) แล้วบอกกล่าวแก่ภิกษุผู้รับถวายให้ทราบไว้ วิธีนี้เรียกว่า “ปวารณา” จะใช้วิธีบอกกล่าวด้วยวาจาก็ได้ บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ กรณีที่บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกใบบอกกล่าวนั้นว่า “ปวารณาบัตร” เมื่อถวายเงินด้วยวิธีเช่นนี้ พระก็ไม่ต้องอาบัติเพราะรับเงิน
ถวายเงิน :
พระไม่ต้องอาบัติ
ถ้าโยมหัดใช้ใบปวารณา
1-11-58