บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๒-

การรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ (๒)

———————-

คือการรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้ารักษาวิถีชีวิตที่ถูกต้องของสงฆ์ไว้ไม่ได้

ก็รักษาพระศาสนาที่ถูกต้องไว้ไม่ได้

ปัญหาทั้งปวงในพระพุทธศาสนามีรากเหง้ามาจาก-การไม่รู้จัก “แบบของพระที่ถูกต้อง” นั่นเอง

เมื่อไม่รู้ ก็ใช้ความเข้าใจส่วนตัวและความพอใจส่วนตัวเป็นฐานแห่งความนับถือเลื่อมใส 

และแม้แต่เป็นฐานแห่งความไม่นับถือไม่เลื่อมใสด้วย

……………………..

ทุกวันนี้เกิดปัญหาพระภิกษุสามเณรไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่อบรมสั่งสอนกวดขันกันให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านไม่มีความรู้ที่แม่นยำพอที่จะบอกได้ว่าอะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ และอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เห็นพระเณรทำอะไรก็ไม่สามารถเอาหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาชี้บอกได้ว่าผิดหรือถูก นอกจากใช้ความรู้สึกส่วนตัว จึงปรากฏอยู่เนืองๆ ว่าพระเณรทำไม่ถูกตามพระธรรมวินัย แต่มีผู้เลื่อมใสสนับสนุน และบอกว่าท่านทำดี

สภาพเช่นที่ว่ามานี้เกิดขึ้นเพราะการศึกษา สั่งสอน อบรม กวดขันในหมู่พระเณรเกิดขาดตอนลงไปเป็นเวลานาน 

ถ้าเข้าไปสังเกตดูในวัดในเวลานี้จะพบว่า แทบทุกวัดไม่มีการศึกษา สั่งสอน อบรม กวดขันให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หากแต่ปล่อยให้อยู่กันอย่างอิสระ 

สิ่งที่ห้ามทำ ใครทำเข้า ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

สิ่งที่ต้องทำ ใครไม่ทำ ก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ส่วนมากเป็นอย่างที่ว่านี้ มีเพียงส่วนน้อยนิดที่ยังพอเอาใจใส่ในพระธรรมวินัยอยู่บ้าง-ขอกราบอนุโมทนาสาธุ

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่จะมาโจมตีหรือว่าร้ายให้เสียหาย เพียงแต่เอาความเป็นจริงมาบอกกันไว้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้กันทั่วไปแล้ว 

ถ้าไม่ยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ความคิดที่จะแก้ไขก็ไม่เกิด เหมือนไม่ยอมรับว่าป่วย ก็ไม่มีความคิดที่จะรักษาพยาบาล

ถามว่า-แล้วจะทำอย่างกัน?

ทางแก้ก็คือ แต่ละคนช่วยกันศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ถ้าชาววัดไม่เรียน ชาวบ้านก็ต้องเรียน อย่ามัวเกี่ยงหรืออ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ 

ถ้าชาวบ้านรู้พระธรรมวินัยมากขึ้น แม่นยำขึ้น ก็เท่ากับช่วยคัดกรองชาววัดไปในตัว คือชาววัดก็จะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะชาวบ้านรู้ทัน 

ชาวบ้านที่รู้พระธรรมวินัยก็จะเลือกนับถือพระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ไปสนับสนุนพระที่ประพฤติไม่ถูกต้อง

พอบอกให้ศึกษาพระธรรมวินัย ปัญหาที่ตามมาทันทีก็คือชาวบ้านจะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษา แค่ทำมาหากินก็แย่อยู่แล้ว

ชาววัดซึ่งมีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติโดยตรง ก็เห็นกันอยู่ว่าท่านพอใจที่จะปล่อยกันตามสบาย 

การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เบี่ยงเบนไปมาก คือมุ่งมองเฉพาะสถิติ เรียนเพื่อสอบปีละครั้งมากกว่าเรียนเพื่อเอาความรู้นำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ ทางที่จะทำได้ก็คือ แต่ละคนเร่งแสวงหาความรู้ในพระธรรมวินัยเท่าที่ตนจะพึงทำได้โดยไม่โยนภาระไปที่ใครอื่น หรือมัวแต่เรียกร้องให้คนอื่นทำ แต่ตัวเองไม่ทำ (ด้วยเหตุผลนั่นนี่โน่นมากมาย)

พระธรรมวินัยนั้นคือพระศาสดา คือตัวแท้ของพระศาสนา ถ้าไม่ช่วยกันศึกษาใส่ใจในพระธรรมวินัย ก็ต้องยอมรับว่าเราทิ้งพระศาสนากันแล้ว

พระพุทธศาสนานั้นฝากไว้กับพุทธบริษัท คืออยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันทั้งชาววัด (บรรพชิต) และชาวบ้าน (คฤหัสถ์) อุปมาเหมือนลงเรือลำเดียวกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างปล่อยมือ ไม่เอาเรื่องเอาราวอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไปไม่รอด

ยิ่งถ้าผู้เป็น “อาทิก” (คือต้นหนหรือผู้บังคับการเรือ) ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาเป็นธุระ ไม่มีแผนจะทำอะไรทั้งสิ้น-ด้วยแล้ว ก็เท่ากับปล่อยให้เรืออับปาง ถึงตอนนั้นแม้คนที่บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้านั่นเองก็ต้องเดือดร้อนด้วย

แต่หลักพื้นฐานเหนืออื่นใดก็คือ อย่าเสื่อมศรัทธาและอย่าขาดความเคารพยำเกรง 

แม้จะเห็นใครทำอะไรที่เสื่อมเสียแค่ไหน ก็อย่าหวั่นไหว อย่าคลายความเคารพในพระรัตนตรัย 

ถ้าถึงที่สุด รักษาพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นองค์กรไว้ไม่ได้ (ไม่มีวัด ไม่มีพระ ทำกิจวัตรจัดกิจกรรมทางพระศาสนาไม่ได้ ดังที่เสื่อมมาแล้วในอินเดียและในชวาเป็นต้น) แต่ถ้าพระพุทธศาสนายังมั่นคงอยู่ในหัวใจของแต่ละคน ก็เท่ากับเรายังรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตลอดไป

———

อย่างน้อยเทวดาที่รักษาพระศาสนาก็จะไม่ตำหนิเราว่า ไม่เห็นทำอะไรสักอย่าง ปล่อยให้พระศาสนาฉิบหายไปต่อหน้าต่อตาอยู่ได้

และเมื่อใดที่ท้อแท้ ขอให้นึกถึงพระมหาชนก

ถ้ายังหา พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มาอ่านไม่ได้ ก็ขอให้นึกถึงภาษิตของพระมหาชนกบทนี้ไปพลางก่อน —

………………

อนโณ  ญาตินํ  โหติ 

เทวานํ  ปิตุนญฺจ  โส 

กรํ  ปุริสกิจฺจานิ 

น  จ  ปจฺฉานุตปฺปติ.

เมื่อลงมือกระทำการ แม้จะลำบากถึงตาย

พ่อแม่ ญาติมิตร และทวยเทพ ก็ตำหนิไม่ได้

(ว่าดูมันเถิด งอมือเท้าอยู่ได้ ไม่ทำอะไรสักอย่าง)

และเมื่อได้ทำหน้าที่อย่างที่คนจะพึงทำแล้ว

ก็จะไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง 

(ว่าเออหนอ นี่ถ้าออกแรงทำอะไรสักนิด ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้)

ที่มา: มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕

………………

ช่วยกันรักษาพระศาสนา

ก่อนที่จะไม่เหลือพระศาสนาให้รักษานะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๐:๑๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *