บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๑๑-

อย่ามัวแต่หลงทางกันอยู่ตรงนี้ (๑)

——————————–

ขอเสนอข้อควรคิดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวพันอยู่กับวิถีชีวิตสงฆ์ นั่นคือ มีเหตุผลอะไรท่านจึงบอกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนธรรมดา

ตรงนี้ต้องตามไปดูกำเนิดของวิถีชีวิตสงฆ์

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์จะได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน

คำแนะนำนี้มีตัวพระพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน

พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา 

แล้วออกบวช 

แล้วปฏิบัติตาม 

แล้วบรรลุธรรม 

ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป 

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา และที่มีการดำรงวิถีชีวิตสงฆ์สืบกันมาก็ด้วยเป้าหมายนี้-คือเพื่อพยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรมในโอกาสต่อไป 

ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธา แต่ยังไม่พร้อมที่จะออกบวช เมื่อได้เห็นพวกที่พร้อมกว่าได้ออกบวชไปแล้ว ก็มีแก่ใจสนับสนุนด้วยปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ผู้ออกบวชมีความสะดวกในการครองชีพ จะได้มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรมต่อไป

นี่คือเหตุผลต้นเดิมที่ชาวพุทธมีศรัทธาในการใส่บาตร-คือในการอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์สามเณร อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

และที่ว่าถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่สัตว์ แก่คนธรรมดา ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้แหละ

คือเหตุผลที่ว่า-เป็นการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

ถึงตัวเองจะยังไปไม่ได้ แต่ก็สนับสนุนคนที่เขาไปได้

ถามว่า ที่เราใส่บาตรกันทุกเช้าทุกวันนี้ มีใครได้คิดไปให้ถึงเหตุผลต้นเดิมตรงนี้กันบ้าง?

นอกจากใส่บาตรทุกเช้าแล้ว การอุปถัมภ์บำรุงในรูปแบบอื่นๆ ทุกอย่าง สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ บริจาคที่ดิน ตั้งทุนมูลนิธิ บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม บวชเณร บวชพระ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น

เราได้คิดสาวไปให้ถึงเหตุต้นเค้าที่แท้จริงของการมีศรัทธากันบ้างหรือเปล่า

เมื่อทำกันนานเข้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นค่านิยม เราก็เลยลืมกันไปว่าเหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้นคืออะไร 

กลายเป็นทำตามประเพณี หนักเข้าก็เลยเป็น “ความเชื่อ” คือศรัทธาล้วนๆ ไม่ได้มองไปที่เหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้น 

และในที่สุดก็ถึงขั้น-ไม่ต้องการคำอธิบายหรือเหตุผลใดๆ 

ใครจะพูดจะชี้แจงก็ไม่อยากฟัง (ซ้ำชักจะรำคาญเอาด้วย)

ขอเพียงแค่ให้ได้ทำ เท่านั้นพอ 

และมีเป็นอันมากที่อ้างเหตุผลเพียงว่า ทำแล้วสบายใจ ก็พอแล้ว ขอแค่นั้น

สมณเพศที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางดำเนินหรือเป็นวิถีชีวิตของผู้ขัดเกลาจึงเริ่มเบี่ยงเบน เจตนาของการบวชเริ่มเปลี่ยนไป เป็นที่มาของคำพูดเล่นหัวเชิงถากถางที่ว่า

บวชเล่น

บวชลอง

บวชครองประเพณี

บวชหนีสงสาร

บวชผลาญข้าวสุก

บวชสนุกตามเพื่อน

วิถีชีวิตของสมณะ-วิถีชีวิตสงฆ์ ที่ต่างจากชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตที่มุ่งขัดเกลาตนเอง ก็เริ่มแปรผัน หวนกลับมาใกล้ไปทางวิถีชาวบ้านเข้าไปอีก 

สละสิทธิ์เข้าไปครองเพศสมณะแล้ว แต่ยังเรียกร้องต้องการใช้สิทธิ์เหมือนชาวบ้าน

……………………

มีท่านจำพวกหนึ่งให้เหตุผลว่า งานต่างๆ ที่พระกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าเป็นชาวบ้านทำ คนเขาก็ไม่ศรัทธา ที่เขาศรัทธาก็เพราะความเป็นพระ

แต่เหตุผลที่ว่า-ผู้คนศรัทธาเพราะความเป็นพระนี่แหละ เป็นเหตุผลแบบโค้งหักศอกอยู่ในตัว

นั่นคือจะต้องถามกลับไปอีกทีหนึ่งว่า ก็แล้วเพราะเหตุผลอะไรกันเล่าชาวบ้านจึงเลื่อมใสศรัทธาและอุปถัมภ์บำรุงพระ?

คำถามนี้ตอบเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูคำตอบข้างต้นที่ชี้ให้ดูมาแล้ว

นั่นคือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระคือผู้ที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา แล้วออกบวช แล้วปฏิบัติตาม 

ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธาในหลักคำสอน เมื่อได้เห็นพระสงฆ์ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรม ก็จึงสนับสนุนด้วยประการต่างๆ

นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงที่ชาวพุทธมีศรัทธาในเพศสมณะ ศรัทธาในวิถีชีวิตสงฆ์

……………………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๐:๒๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *