อเวจี (บาลีวันละคำ 3,468)
อเวจี
ฟังไว้ก็ดี-แม้ไม่เชื่อ
อ่านว่า อะ-เว-จี
“อเวจี” เป็นคำที่เรียกกันในภาษาไทย คำนี้บาลีเป็น “อวีจิ” อ่านว่า อะ-วี-จิ รากศัพท์มาจาก น + วีจิ
(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “วีจิ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ
(๒) “วีจิ”
อ่านว่า วี-จิ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + จิ (ธาตุ = ก่อ, สั่งสม) + อิ ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี (วิ > วี)
: วิ + จิ = วิจิ + อิ = วิจิ > วีจิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ก่อตัวขึ้นด้วยวิธีแปลกๆ” (2) “ผู้ก่อตัวขึ้นอย่างน่าพิศวง”
“วีจิ” (ปุงลิงค์; อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดงนี้ –
(1) คลื่น (a wave)
(2) ช่องว่างระหว่างเวลา, ระยะเวลา (interval, period of time)
น + วีจิ = นวีจิ > อวีจิ (อะ-วี-จิ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สถานที่มีเปลวไฟไม่ขาดสาย” (2) “สถานเป็นที่ไม่มีคลื่นแห่งความสุขแม้แต่น้อย” (3) “สถานเป็นที่ไม่มีความเว้นว่างแห่งคลื่นเปลวไฟ ทุกขเวทนา และสัตว์นรก”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างคำแปล “อวีจิ” ไว้ 2 ความหมาย คือ –
(1) uninterrupted state of suffering (สถานะที่ไม่มีอะไรขัดขวางของการรับทุกข์)
(2) uninterrupted, without an interval (ไม่มีอะไรขัดขวาง, ไม่มีการหยุดพัก)
“อวีจิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อเวจี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อเวจี : (คำนาม) ชื่อนรกขุม ๑ ในนรก ๘ ขุม ได้แก่ ๑. สัญชีวนรก ๒. กาฬสุตตนรก ๓. สังฆาฏนรก ๔. โรรุวนรก ๕. มหาโรรุวนรก ๖. ตาปนรก ๗. มหาตาปนรก ๘. อเวจีมหานรก ซึ่งเป็นนรกขุมลึกที่สุดสําหรับลงโทษแก่ผู้ที่มีบาปหนักที่สุด, ใช้เป็น อวิจี หรือ อวีจิ ก็มี.”
ขยายความ :
อรรถกถาสังกิจจชาดก สัฏฐินิบาต บรรยายลักษณะของ “อเวจี” หรือ “อเวจีมหานรก” ไว้ดังนี้ –
…………..
ชาลานํ วา ปจฺจนสตฺตานํ วา เตสํ ทุกฺขสฺส วา วีจิ อนฺตรา
นตฺถิ เอตฺถาติ อวีจิ ฯ
เปลวไฟหนึ่ง สัตว์ผู้หมกไหม้หนึ่ง ทุกข์ของสัตว์เหล่านั้นอีกหนึ่ง ย่อมไม่มีที่ว่างเว้นในนรกนี้ เหตุนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่า อเวจี (แปลว่า “นรกไม่มีที่ว่าง”).
มหนฺโต อวีจิ มหาวีจิ ฯ
อเวจีนรกเป็นสถานที่กว้างใหญ่ จึงได้ชื่อว่า มหาอเวจี (อเวจีมหานรก).
ตตฺร หิ ปุรตฺถิมาทีหิ ภิตฺตีหิ ชาลา อุฏฺฐหิตฺวา ปจฺฉิมภิตฺติอาทีสุ ปฏิหญฺญติ ตาว ภิตฺติโย วินิวิชฺฌิตฺวา ปุรโต โยชนสตํ คณฺหติ
ในอเวจีมหานรกนั้น เปลวไฟลุกขึ้นจากฝาด้านทิศบูรพาพลุ่งไปกระทบฝาด้านทิศปัจฉิม ทะลุฝาออกไป 100 โยชน์ (ทิศอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน)
เหฏฺฐา อุฏฺฐิตา ชาลา อุปริ ปฏิหญฺญติ อุปริ อุฏฺฐิตา เหฏฺฐา ปฏิหญฺญติ,
เปลวไฟที่ลุกขึ้นจากด้านล่างพลุ่งไปกระทบด้านบน เปลวไฟที่ลุกขึ้นจากด้านบนพลุ่งไปกระทบด้านล่าง
เอวํ ตาเวตฺถ ชาลานํ วีจิ นาม นตฺถิ ฯ
เปลวไฟในอเวจีมหานรกนี้ย่อมไม่มีช่องว่าง ด้วยประการฉะนี้.
ตสฺส ปน อนฺโต โยชนสตฏฺฐานํ ขีรวลฺลิปิฏฺฐิสฺส ปูริตนาฬี วิย สตฺเตหิ นิรนฺตรํ ปูริตํ,
สถานที่ประมาณ 100 โยชน์ภายในมหานรกนั้นเต็มไปด้วยสัตว์ทั้งหลายหาช่องว่างมิได้เลย ประดุจดังทะนานเต็มไปด้วยน้ำนมและแป้งฉะนั้น
จตูหิ อิริยาปเถหิ ปจฺจนฺตานํ สตฺตานํ ปมาณํ นตฺถิ,
เหล่าสัตว์ที่หมกไหม้อยู่ในทุกอิริยาบถนับประมาณไม่ได้
น จ อญฺญมญฺญํ พฺยาพาเธนฺติ สกฏฺฐาเนเยว ปจฺจนฺติ ฯ
และสัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เบียดบี้ซึ่งกันและกัน ย่อมไหม้อยู่ในที่เฉพาะของตนเท่านั้น.
เอวเมตฺถ สตฺตานํ วีจิ นาม นตฺถิ ฯ
ในมหานรกนี้ไม่มีที่ตรงไหนที่จะว่างจากสัตว์นรกที่ถูกหมกไหม้อยู่ ด้วยประการฉะนี้.
ฯลฯ
ทุกฺขเมว ญายติ นิรนฺตรํ ปญฺญายติ ฯ
ทุกข์เท่านั้นย่อมปรากฏ คือถูกรับรู้ติดต่อกันตลอดไปไม่มีเวลาว่างเว้น.
เอวเมตฺถ ทุกฺขสฺส วีจิ นาม นตฺถิ ฯ
ชื่อว่าช่องว่างจากความทุกข์ (คือชั่วขณะที่จะไม่มีทุกข์) ในมหานรกนี้ย่อมไม่มี ด้วยประการฉะนี้.
สฺวายํ สห ภิตฺตีหิ วิกฺขมฺภนโต อฏฺฐารสาธิกติโยชนสโต อาวฏฺฏโต จตุปณฺณาสาธิกนวโยชนสโต สห อุสฺสเทหิ ทสโยชนสหสฺสานิ ฯ
อเวจีมหานรกนี้รวมทั้งฝาทั้งหลาย วัดโดยผ่ากลางได้ 318 โยชน์ วัดโดยรอบได้ 954 โยชน์ รวมทั้งนรกบริวารด้วยเป็นหมื่นโยชน์.
เอวมสฺส มหนฺตตา เวทิตพฺพา ฯ
พึงทราบความที่อเวจีมหานรกเป็นสถานที่กว้างใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
ที่มา: ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 หน้า 121
…………..
ดูก่อนภราดา!
น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ
น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส
น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส
ยตฺรฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา.
หนีไปกลางอากาศ
ปลาตไปอยู่กลางสมุทร
มุดเข้าไปใต้ภูเขาเข้าถ้ำ
สถานที่อันจะหนีพ้นบาปกรรมนั้นบมิได้มี
ที่มา: ปาปวรรค ธรรมบท 25/19
ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 (ตโยชนวัตถุ)(105)
#บาลีวันละคำ (3,468)
10-12-64
…………………………….