บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันอ่านให้ละเอียด

ผมอ่านโพสต์ในเฟซบุ๊ก ไปเจอคนเรียก covid ว่า โควิโท ก็สะดุ้งใจว่า เอ คำนี้มายังไง 

โรค covid นี้ เราเรียกในภาษาไทยว่า “โควิด” กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว ทั้งเอกสารของทางราชการและภาษาเขียนภาษาพูดของชาวบ้านทั่วไป และตามที่ผมเข้าใจนั้น รัฐบาลหรือทางราชการก็ยังไม่ได้ประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้เป็นอย่างอื่น

แล้วมันเกิดอะไรขึ้นจึงมีคนเรียกโควิดเป็น “โควิโท”? 

ในฐานะที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ขอเรียนให้ทราบว่า – 

๑ มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีเผยแพร่ทั่วไป เรียกโรคโควิดเป็นภาษาบาลีว่า “โควิโต” (โค-วิ-โต, -โต ต เต่า) 

ย้ำ – เฉพาะเมื่อพูดหรือเขียนคำว่า โควิด เป็นภาษาบาลี ไม่เกี่ยวกับภาษาไทย

๒ มีผู้แสดงความเห็นว่าโรคโควิดนี้ภาษาอังกฤษสะกดว่า covid ไทยเราใช้ทับศัพท์ว่า โควิด ด เด็กสะกด ตามตัว d ในคำอังกฤษ แต่ตัว d นี้ถ้าเอาหลักการถอดคำบาลีเป็นอักษรโรมันเข้าไปจับ d อักษรโรมันที่ใช้เขียนคำบาลีเท่ากับตัว ท ทหาร (คือ d = ท ทหาร) เพราะฉะนั้น covid เมื่อทับศัพท์เป็นคำบาลีก็น่าจะเป็น โควิท (-vid = -วิท) 

ย้ำ – ทับศัพท์เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย ไม่เกี่ยวกับ โควิด ในภาษาไทย

มีผู้แสดงความเห็นอย่างที่ว่ามานี้

๓ ความเห็นดังกล่าวนั้นรู้ไปถึงมหาเถรสมาคม เพราะเป็นเรื่องภาษาบาลีซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมจึงนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม และมีมติว่า โรค covid หรือ โควิด เมื่อจะพูดหรือเขียนเป็นภาษาบาลี ให้ใช้ว่า “โควิโท”

ย้ำ เมื่อจะพูดหรือเขียนเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่พูดหรือเขียนภาษาไทย

ถ้อยคำตามที่ปรากฏในเอกสารที่เป็นมติมหาเถรสมาคมมีดังนี้ (ดูภาพประกอบ) –

……………………………………

ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ใช้ศัพท์ว่า “โควิโท” เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาบาลี และเป็นอสาธารณนาม

……………………………………

ข้อความในเอกสารบอกว่า “ให้ใช้ศัพท์ว่า ‘โควิโท’ เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาบาลี” 

ไม่ได้บอกเลยว่า “ให้ใช้ศัพท์ว่า ‘โควิโท’ เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาไทย” 

…………………..

สรุปว่า ถ้าใครเรียนภาษาบาลี แล้วพูดหรือเขียนภาษาบาลี (ขอย้ำว่าพูดหรือเขียนภาษาบาลี ไม่เกี่ยวกับภาษาไทย) เมื่อเอ่ยถึงโรค covid หรือ“โควิด” นี้เป็นภาษาบาลี มหาเถรสมาคมมีมติว่า ให้ใช้คำบาลีว่า “โควิโท”

มติมหาเถรสมาคมไม่ได้ไปแตะต้องข้องแวะคำว่า “โควิด” ที่ใช้กันทั่วไปในภาษาไทยเลย 

เพราะฉะนั้น โรค covid ในภาษาไทยคงเรียกว่า “โควิด” เหมือนเดิม

สาระสำคัญมีเท่านี้ 

ขอความกรุณาอ่านหนังสือให้ละเอียดสักหน่อยนะครับ และขอความกรุณาตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะกระจายข่าว

…………………..

มีข้อที่ควรขยายความเพื่อความเข้าใจอันดีอยู่หน่อยหนึ่ง เกี่ยวกับหลักวิชาภาษาบาลี นั่นก็คือ คำว่า “โควิโท” ที่ปรากฏในมติมหาเถรสมาคมนั้น เป็นคำที่แจกวิภัตติสำเร็จแล้ว 

ตั้งหลักกันตรงนี้ก่อนว่า “ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” หมายความว่า ภาษาบาลีนั้นศัพท์เดิมคำเดิมหน้าตาเป็นอย่างหนึ่ง เวลาจะเอาไปใช้ คือเอาไปพูดเอาไปเขียนเป็นข้อความเป็นเรื่องราว ต้องเอาคำนั้นไปผ่านกระบวนการใส่วิภัตติปัจจัย หน้าตาของคำก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

คำว่า “โควิโท” นั้น ศัพท์เดิมคำเดิมคือ “โควิท” (บาลีอ่านว่า โค-วิ-ทะ) ผ่านกระบวนการใส่วิภัตติปัจจัยเรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนรูปเป็น “โควิโท”

เทียบกับภาษาอังกฤษอย่างง่ายๆ เหมือน I หรือ He

I เมื่อเป็นประธาน เป็น I 

He เป็น He 

เหมือน “โควิท” เปลี่ยนรูปเป็น “โควิโท” เพราะอยู่ในฐานะเป็นประธาน

I เมื่อเป็นกรรม เปลี่ยนเป็น me 

He เปลี่ยนเป็น him

เหมือน “โควิท” เมื่อเป็นกรรมต้องเปลี่ยนรูปเป็น “โควิทํ” ไม่ใช่ “โควิโท”

ทำไมเป็น “โควิทํ”? 

นี่คือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ บอกได้แค่นี้ ต้องเรียนบาลีจึงจะรู้

โควิท (โค-วิ-ทะ) โควิโท (โค-วิ-โท) โควิทํ (โค-วิ-ทัง) เป็นเรื่องของภาษาบาลีล้วนๆ ใครสนใจภาษาบาลี จะเอาไปพูดเอาไปเขียนเอาไปอ้างถึง ก็ทำในฐานะเป็นภาษาบาลี

แม้กระทั่งใครเห็นว่า โรคโควิดนี้ภาษาบาลีควรจะใช้คำอื่น ไม่ใช่ “โควิโท” (รูปคำเดิมคือ โควิท) ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่-ในแวดวงของนักเรียนภาษาบาลี

ส่วนในภาษาไทย เราก็เรียกกันว่า โควิด ไปตามปกติ ไม่ต้องเอาไปพาดพิงกับ โควิโท เพราะเราพูดภาษาไทย ไม่ได้พูดภาษาบาลี

เรื่องก็จบเพียงแค่นี้

แต่ยังมีประเด็นต่อเนื่อง-เรื่องเอาภาษาบาลีไปล้อเลียน น่าจะต้องเขียนต่ออีกตอนหนึ่ง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๐:๒๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *