บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๑๐) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ตอน: วิธีคิดที่ต่างกัน

ในเรื่องพุทธบัญญัติห้ามภิกษุรับเงิน มีเสียงอุทธรณ์ว่าถ้าไม่รับเงินไม่จับจ่ายใช้เงินด้วยตัวเอง พระจะอยู่ไม่ได้ และผมหยิบยกขึ้นมาเขียนอยู่นี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นซึ่งผมสรุปได้ว่า-เรามีวิธีคิดต่างกัน 

วิธีคิดแบบผมก็คือ ขอให้พระไม่ทำ (ไม่ละเมิดพุทธบัญญัติ) แล้วเราพยายามหาวิธีช่วยให้พระท่านอยู่ได้-อย่างที่ผมเสนอวิธีใช้ปวารณาบัตรและพยายามเพียรอธิบายอยู่นี้เป็นต้น

แต่วิธีคิดอีกแบบหนึ่ง พระทำไปเถอะ แล้วพยายามหาคำอธิบายว่าการทำอย่างนั้น (ละเมิดพุทธบัญญัติ) ไม่ผิด

ขออนุญาตนำคำอธิบายที่ว่าการทำอย่างนั้น (รับเงิน) ไม่ผิด มาเสนอเป็นตัวอย่างประกอบการศึกษาสัก ๓ ข้อ

(๑) คำอธิบายหนึ่งบอกว่า พระรับเงินจับเงินที่เป็นธนบัตรไม่ผิด เพราะธนบัตรไม่ใช่ “หิรัญญสุวัณณ”

“หิรัญญ” แปลว่าเงิน “สุวัณณ” แปลว่าทอง เจ้าของคำอธิบายนี้คงเข้าใจว่า พุทธบัญญัติ “ห้ามภิกษุรับเงินทอง” ธนบัตรไม่ใช่ “หิรัญญสุวัณณ” (เงินทอง) ภิกษุรับจับจ่ายใช้ธนบัตรจึงไม่ผิด

ความจริง สิกขาบทข้อนี้ในพระวินัยปิฎกต้นฉบับท่านไม่ได้ใช้คำว่า “หิรัญญสุวัณณ” (เขียนแบบบาลี “หิรญฺญสุวณฺณ”) 

ไหนๆ ก็พูดพาดพิงแล้ว ถือโอกาสศึกษาตัวบทเต็มๆ กันเลย 

สิกขาบทนี้ข้อความในพระวินัยปิฎกเป็นดั่งนี้ 

……………………………………

โย  ปน  ภิกฺขุ  ชาตรูปรชตํ  อุคฺคเณฺหยฺย  วา  อุคฺคณฺหาเปยฺย  วา  

อุปนิกฺขิตฺตํ  วา  สาทิเยยฺย  นิสฺสคฺคิยํ  ปาจิตฺติยํ.

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินอันเขาเก็บไว้ให้, ภิกษุนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒  นิสสัคคียกัณฑ์ โกสิยวรรค  สิกขาบทที่ ๘ 

พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๐๕ หน้า ๙๐

……………………………………

ตัวบทในพระวินัยใช้คำว่า “ชาตรูปรชต” (ชา-ตะ-รู-ปะ-ระ-ชะ-ตะ) ศีลข้อ ๑๐ ของสามเณรก็ใช้คำว่า “ชาตรูปรชต” เช่นเดียวกัน คือ “ชาตรูปรชตปฏิคฺคหนา เวรมณี” (สามเณรก็ห้ามรับเงินทองเช่นเดียวกับภิกษุ)

และในพระวินัยปิฎกนั้นเองตอนให้คำจำกัดความ ท่านบอกไว้ว่า 

……………………………………

ชาตรูปํ  นาม  สตฺถุวณฺโณ  วุจฺจติ.  รชตํ  นาม  กหาปโณ  โลหมาสโก  ทารุมาสโก  ชตุมาสโก  เย  โวหารํ  คจฺฉนฺติ. 

คำว่า ชาตรูป หมายถึง ทองคำ

คำว่า รชต หมายถึง กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง บรรดาที่ใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้

ที่มา: อ้างแล้ว

……………………………………

เป็นอันว่า ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญหรือวัตถุใดๆ ก็ตามที่กําหนดให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชําระหนี้ รวมอยู่ในคำว่า “ชาตรูปรชต” นี้ทั้งสิ้น

สมัยผมเป็นเด็กวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี วันหนึ่งมีพระจากกรุงเทพฯ รูปหนึ่งมาที่วัด แล้วก็คุยเสียงดังถึงเรื่องห้ามพระรับ/จับเงินทองนี้ 

ท่านบอกว่า ธนบัตรเป็นพลังเทียม ไม่ใช่เงินทอง เพราะฉะนั้น พระเรารับ/จับธนบัตรได้ ไม่ผิดศีล

พระเณรวัดบ้านนอกฟังกันตาตั้ง ผมเป็นเด็กวัดก็พลอยตื่นเต้นไปด้วย ตอนนั้นผมอายุราวๆ ๑๐-๑๒ ทำไมจึงมาสนใจเรื่องนี้กับเขาด้วยก็ไม่ทราบ 

ที่ผมทึ่งมากก็คือคำว่า “พลังเทียม” เกิดมายังไม่เคยได้ยิน ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนนั้นฟังแล้วก็เชื่อ คือเชื่อว่าธนบัตรเป็นพลังเทียม แต่ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร 

ตอนนี้ก็ยังแว่วเสียงที่พระรูปนั้นพูด ท่านพูดเสียงดังฟังชัด บุคลิกสง่าแบบพญาราชสีห์ในกรุงท่ามกลางฝูงแกะบ้านนอก ผมยังจำได้แม่นว่าเป็นพระวัดไหน วัดใหญ่พอสมควรทีเดียว แต่ไม่บอกละครับ

ครั้นพอมาได้บวช เรียนนักธรรม เรียนบาลี มีโอกาสอ่านเขียนเรียนธรรมวินัย เก็บความรู้มาเรื่อยๆ จึงได้หลักว่า พระวินัยนั้น ถ้าไม่จับหลัก ไม่จับคำอธิบายให้ชัดเจน โอกาสที่จะรู้ผิด เข้าใจผิด ถือผิด ก็มีมาก

………………………

(๒) คำอธิบายหนึ่งบอกว่า พระที่ท่านรับ/จับเงินด้วยใจสุจริตไม่ได้คิดชั่วร้าย ก็ย่อมจะไม่มีโทษไม่มีผิด ดังมีพระพุทธพจน์รับรองว่า ถ้าฝ่ามือไม่มีแผล บุคคลย่อมกำยาพิษได้ เพราะพิษยาไม่สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้

นี่ก็เช่นกัน ถ้าตั้งหลักไม่ถูกท่า ก็พลาดท่าได้เหมือนกัน หลักของพระวินัยก็คือความชัดเจนตรงไปตรงมา และตัดสินด้วยเกณฑ์ทางพระวินัย

สิกขาบทนี้ไม่ปรากฏข้อยกเว้นให้ภิกษุผู้สุจริตไม่ได้คิดชั่วร้าย นั่นคือจะสุจริตหรือไม่สุจริต ถ้ารับ/จับเข้าก็ผิดทั้งนั้น

และขอได้โปรดสังเกตว่า พระอรหันต์ซึ่งมีจิตสุจริตอย่างยิ่งท่านรักษาสิกขาบททั้งปวงเคร่งครัดอย่างยิ่ง กลายเป็นว่ายิ่งมีจิตสุจริตยิ่งไม่ล่วงละเมิด

………………………

(๓) คำอธิบายหนึ่งบอกว่า มีพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงผ่อนให้ตามความจำเป็น ดังที่เมื่อใกล้ปรินิพพานมีพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แสดงว่าถ้าไม่ใช่เรื่องระดับหลักใหญ่ที่เป็นพื้นฐานแล้วย่อมสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

คำอธิบายนี้มีน้ำหนัก เพราะอ้างถึงหลักการ เป็นเรื่องน่าศึกษา บางท่านอาจจะเคยได้ยิน หรือบางทีก็อาจจะเคยเอาไปพูด แต่ยังไม่เคยศึกษา เพราะฉะนั้น ถือโอกาสศึกษากันเสียหน่อย

ข้อความต้นฉบับที่เป็นพุทธดำรัสมีว่าดังนี้ – 

……………………………………

อากงฺขมาโน  อานนฺท  สงฺโฆ  มมจฺจเยน  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนตุ.

ดูก่อนอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑

……………………………………

ถ้าสังเกตสักนิดก็จะเห็นพิรุธเล็กๆ นั่นคือ เวลาเอาไปพูดกันมักพูดแต่เพียงว่า “มีพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ได้” แต่คำที่พูดข้ามไปก็คือ “สงฆ์จำนงอยู่” ซึ่งเป็นคำแรกในประโยคแท้ๆ (อากงฺขมาโน  อานนฺท  สงฺโฆ) 

นั่นหมายถึงว่า การจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยต้องเป็นมติของสงฆ์ ไม่ใช่ภิกษุรูปไหนอยากถอนก็ถอนได้ตามใจอยาก

แล้วถ้าศึกษาให้กว้างไปอีกสักนิดก็จะรู้ว่า เรื่องนี้ “สงฆ์” ได้ลงมติไว้แล้วตั้งแต่เมื่อทำสังคายนาครั้งแรก พ.ศ. ๓ เดือน ว่า “ไม่ถอน”

ถึง พ.ศ.๑๐๐ ก็มีภิกษุที่ทรยศต่อสงฆ์พยายามถอนอีก เป็นเหตุให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ 

รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งบรรยากาศในที่ประชุมเมื่อ พ.ศ.๓ เดือน และเรื่องราวก่อนและขณะประชุมเมื่อ พ.ศ.๑๐๐ มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก 

“สงฆ์” ในครั้งกระนั้นก็คือบรรพบุรุษของสงฆ์เถรวาทที่นับถือกันอยู่ในเมืองไทยของเราทุกวันนี้ 

และเรื่องราวเหล่านี้พวกเราเรียนรู้กันมาแล้วตั้งแต่เรียนชั้นนักธรรม

ถามว่า ถ้าสงฆ์ในเมืองไทย พ.ศ.๒๕๖๔ นี้ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยโดยอ้างพุทธานุญาตในมหาปริพพานสูตร สามารถทำได้หรือไม่

ตอบว่า สามารถทำได้อย่างยิ่งครับ แต่สงฆ์หมู่ไหนละครับที่จะลงมือ?

ในการประชุมสงฆ์เมื่อ พ.ศ.๓ เดือน ที่ประชุมได้จำลองบรรยากาศให้เห็นกันแล้วว่า ถ้าสงฆ์สมัยนั้นลงมติถอนสิกขาบทเล็กน้อย สิกขาบทของภิกษุในพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ดีแล้วจะเหลือเพียง ๔ ข้อ คือปาราชิก ๔ เท่านั้นที่ไม่ถูกถอน และภิกษุในพระพุทธศาสนาจะแตกกันอย่างน้อยก็เป็น ๖ นิกายมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น

ผมอยากจะพูดแบบ-หมิ่นน้ำใจกัน-ว่า ทั้งชาววัดและชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ไม่เคยศึกษาสังเกตสำเหนียกตระหนักถึงเรื่องราวตรงนี้กันเลย บางท่าน-หลายท่านอาจจะเคยผ่าน เคยอ่าน เคยแปลเพื่อให้สอบได้ แต่ไม่เคยศึกษาสังเกตสำเหนียกตระหนักให้ประจักษ์แก่ใจ

………………………

เป็นอันว่า ถ้าเราจะใช้วิธีคิดแบบ-ให้พระเณรทำไปเลย แล้วพยายามหาคำอธิบายว่าการทำเช่นนั้นไม่ผิด เราก็จะต้องหาคำอธิบายกันเรื่อยไป และสิกขาบทต่างๆ ก็จะถูกละเมิดไปเรื่อยๆ จนหมด

แต่ถ้าใช้วิธีคิดแบบ-ถวายกำลังใจพระเณรว่าอย่าทำ แล้วพยายามช่วยกันหาวิธีที่จะช่วยให้พระเณรอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ด้วย รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้ด้วย —

ช่วยกันคิดวันนี้ วันหนึ่งเราจะทำสำเร็จ

ทำสำเร็จได้เรื่องหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะทำอีกเรื่องหนึ่ง-และอีกเรื่องหนึ่ง ให้สำเร็จได้อีก

แต่ถ้าคิดจะถอนกันตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาถือเพศสงฆ์ 

และถ้าวันนี้ถอนสิกขาบทนี้ได้สำเร็จ 

วันหน้าก็จะถอนสิกขาบทนั้น-สิกขาบทโน้น-และบทโน้นได้อีก 

สิกขาบทต่างๆ ก็จะถูกถอนไปเรื่อยๆ จนหมด 

และถ้าท่านผู้ใดบอกว่า-ในอนาคตกาลมันก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว-ดังที่รู้กันในนาม “อันตรธาน”-ก็แล้วจะมามัวรออะไรอยู่อีก ทำให้มันถึงวันนั้นตั้งแต่วันนี้เสียเลยจะเป็นไรไป

ก็เชิญตามสบายครับผม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๖:๒๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *