เนรเทศ (บาลีวันละคำ 490)
เนรเทศ
อ่านว่า เน-ระ-เทด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายคำว่า “เนรเทศ” ไว้ว่า
– บังคับให้ออกไปเสียจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตน
– (คำที่ใช้ทางกฎหมาย) ขับคนต่างด้าวให้ออกไปนอกราชอาณาจักร
– (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายถึงการออกจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่เดิมด้วยความสมัครใจ เช่น เนรเทศตัวเอง
พจน.42 บอกด้วยว่า เนรเทศ แผลงมาจาก “นิรเทศ”
ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน คำว่า “นิรฺเทศ” มีความหมายว่า บัญชา, คำสั่ง, การพรรณนาหรือชี้แจง, การแสดงหรือชี้แจงให้เห็น
“นิรเทศ” ถ้าเทียบเป็นบาลีจะเป็น “นิทฺเทส” (นิด-เท-สะ) แปลว่า คำแสดง, คำจำแนกอธิบาย, คำไขความ, ชี้แจง, อธิบาย (ตรงกับที่เราใช้ว่า “นิเทศ”)
เป็นอันว่า “นิทฺเทส” บาลี กับ “นิรฺเทศ” สันสกฤต มีความหมายตรงกัน แต่เป็นคนละความหมายกับ “เนรเทศ” ที่ พจน.42 อ้างว่าแผลงมาจาก “นิรเทศ”
“เนรเทศ” ประกอบด้วย นิ หรือ นิร (แผลงเป็น เนร) + เทศ
“นิ-นิร-เนร” แปลว่า ไม่มี, ออก
“เทศ” แปลว่า ถิ่น, ที่อยู่
“เนรเทศ” แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่อยู่” “ออกไปจากถิ่นที่อยู่”
ทั้งนี้เป็นการแปลตามความหมายในภาษาไทย
ในภาษาบาลี การกระทำที่หมายถึงเนรเทศ ใช้ศัพท์ว่า “ปพฺพาชน” (ปับ-พา-ชะ-นะ) “ปพฺพาชนียกมฺม” (ปับ-พา-ชะ-นี-ยะ-กำ-มะ) แปลว่า “การขับไล่” หรือ “กระบวนการที่ทำแก่ผู้ที่ควรถูกขับ” ใช้กับคนทั่วไปหมายถึงการขับออกจากบ้านเมือง ถ้าใช้กับพระภิกษุ หมายถึงไล่ออกจากวัด หรือไล่ออกจากสำนักหรือนิกายที่สังกัด
เนรเทศมักมีคติเป็นสอง :
คือ 1 อ้างว่าสังคมเลว จึงอยู่ร่วมด้วยไม่ได้
หรือ 2 ตัวเองเลวจึงถูกไล่ แล้วอ้างว่าสังคมเลว
17-9-56