บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๑๑) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ขออนุญาตสรุปประเด็นเพื่อให้มองเห็นภาพตรงกัน 

๑ มีพุทธบัญญัติห้ามพระเณรรับเงินและจับจ่ายใช้เงินซื้อของเหมือนชาวบ้าน

๒ มีพระร้องทุกข์ว่า ถ้าไม่รับเงิน ไม่ใช้เงิน พระจะอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ไม่ได้

๓ ผมบอกว่า เรื่องนี้มีทางออก นั่นคือวิธีปวารณาที่มีพุทธานุญาตไว้

หลักการของวิธีปวารณาก็คือ พระอยากฉันอยากใช้อะไรอันสมควรแก่สมณบริโภค โยมจะเป็นผู้จัดซื้อจัดหามาถวายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด พระเณรไม่ต้องจับ+จ่ายใช้เงินด้วยตนเองอันจะเป็นการละเมิดพุทธบัญญัติแต่ประการใด

แต่คนสมัยนี้ ทั้งชาววัดและชาวบ้าน ต่างพากันละเลยไม่เรียนรู้และไม่ยอมใช้วิธีปวารณา อ้างว่ายุ่งยาก มากเรื่อง ไม่คล่องตัว

เรื่องทั้งหมดที่เขียนมาในตอนนี้ (ตอนที่ ๙ ปวารณา: พยานปากเอกที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ) เป็นความพยายามของผมที่จะอธิบายว่า เรายังมีทางทำได้ คือพระเณรปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ-ไม่ต้องรับเงินจับจ่ายใช้เงิน แต่สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ในสังคมปัจจุบันได้ตามสมควรแก่สถานภาพของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา

เสียงตอบรับจนถึงเวลานี้ก็คือ-ยุ่งยาก มากเรื่อง ฝันเฟื่อง ไร้สาระ

คือคนส่วนมาก ทั้งชาววัดและชาวบ้าน ต่างพากันปักใจคิดว่า ถวายเงินใส่มือพระเณรไปตรงๆ นั่นเลยดีที่สุด ท่านอยากจะซื้ออะไรจ่ายอะไรให้ท่านไปจัดการเอาเองสะดวกที่สุด อาบัติก็แค่เล็กน้อย โลกเปลี่ยนไปแล้ว จะมามัวเคร่งครัดอะไรกัน พระเณรสมัยนี้เป็นปุถุชนทั้งนั้น จะเอาอะไรกันนักกันหนา เอาแค่พอมีพระไว้เฝ้าวัด มีพระไว้ให้ชาวบ้านทำบุญก็พอแล้ว เลิกเอาเรื่องแบบนี้มาพูดกันเสียที จบ

อันที่จริง หลักการของพระพุทธศาสนานั้นชัดเจน

เราไม่ได้เป็นพระเป็นเณรกันมาตั้งแต่เกิด เกิดแล้วโตพอแล้วจึงสมัครใจเข้ามาเป็น

และกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นสากลของมนุษย์ที่เจริญแล้วก็คือ ผู้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรใดๆ ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทขององค์กรนั้นๆ ถ้าปฏิบัติตามไม่ได้ ก็อย่าเข้าไปเป็น เข้าไปเป็นสมาชิกแล้ว เห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทขององค์กรได้อีกต่อไป ก็ถอยออกมา ไม่มีใครบังคับให้ต้องอยู่ 

ง่ายๆ ตรงไปตรงมา

แต่พระเณรทุกวันนี้ไม่ได้คิดแบบนี้ หากแต่คิดว่า –

๑ ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ที่จะบวชเป็นพระเป็นเณร

๒ บวชเป็นพระเป็นเณรแล้ว ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของพระพุทธเจ้า

๓ โลกปัจจุบัน สิ่งที่จำเป็นแก่วิถีชีวิตสงฆ์มีมากขึ้น จะมามัวยึดแต่คำว่า “อันสมควรก่สมณบริโภค” เหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว พระจะไม่ทันโลก

แล้วเราก็ช่วยกันหาเหตุผลมาสนับสนุนว่า การคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้เป็นความถูกต้องชอบธรรม

ความคิดของผม (๑) ให้พระเณรมีสิทธิ์ที่จะเป็นพระเป็นเณรต่อไปด้วย และ (๒) หาทางช่วยให้ท่านสามารถปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของพระพุทธเจ้าได้อย่างสบายๆ ด้วย – ความคิดแบบนี้ไม่มีใครสนับสนุน ไม่มีใครสนใจที่จะช่วยคิดช่วยทำ

ไม่ช่วยคิดช่วยทำก็ยังพอว่า แต่ลากภูเขามาขวางหน้าเสียอีกด้วย 

เช่นบอกว่า-พูดแต่เรื่องพระเณรรับเงินจ่ายเงิน เรื่องจิ๊บจ๊อย แล้วพระที่มีเงินฝากธนาคารเป็นแสนเป็นล้านนั่นล่ะจะว่ายังไง 

อยากจะบอกว่า-จะให้ใครว่ายังไงอีกล่ะ ก็ช่วยกันหาทางแก้ไขสิครับ-ถ้ารักและห่วงพระศาสนา จะมามัวถามอยู่ทำไมว่าจะว่ายังไง คนถามนั่นแหละที่ควรจะถามตัวเองว่า-แล้วเราควรจะช่วยทำอะไรได้บ้าง

เสียงแย้งที่ชัดมากๆ ก็คือ ต่อให้มีปวารณาบัตรจริงๆ มันก็ต้องมีวิธีโกงจนได้นั่นแหละ จะต้องไปเสียเวลาคิดทำไม

เสียงแย้งเสียงนี้น่าสนใจนะครับ ผมนึกเทียบกับการสอบนักธรรมบาลีที่มีการทำทุจริต

การเรียนนักธรรมเรียนบาลีคืออะไร 

ก็คือเรียนที่จะไม่ทำทุจริต

เพราะฉะนั้น ถ้ามาทำทุจริตเสียเองเช่นนั้น ก็เท่ากับประกาศว่าบุคคลผู้นั้นล้มเหลวในทางธรรมโดยสิ้นเชิงนั่นเอง – และสมควรตาย คือสมควรออกไปเสียจากวงการพระศาสนา 

การบอกว่า-ต่อให้มีปวารณาบัตรจริงๆ มันก็ต้องมีวิธีโกงจนได้นั่นแหละ-นี่ก็ไม่ต่างอะไรกันเลยกับกรณีทำทุจริตในการสอบนักธรรมบาลี นั่นคือเท่ากับประกาศว่าคนที่โกงกติกาของปวารณาบัตรนั้นเป็นบุคคลที่ล้มเหลวในทางธรรมโดยสิ้นเชิงนั่นเอง และสมควรตายเช่นเดียวกัน คือสมควรออกไปเสียจากวงการพระศาสนา 

ก็คงจะมีวิธีแถต่อไปอีก เช่น – ก็ใครเล่ามันจะแสดงตัวโจ่งแจ้งให้คนรู้ มันก็แอบทำกันทั้งนั้นแหละ

เห็นไหมครับ ถ้าไม่มีความตั้งใจที่จะช่วยกันรักษาพระธรรมวินัย-รักษาวิถีชีวิตสงฆ์กันจริงๆ ละก็ มีทางแถไปได้เป็นร้อยๆ ทาง

ไม่ช่วยคิดไม่ช่วยทำก็ไม่ว่า

แต่ขอความกรุณาอย่าลากภูเขามาขวางทาง

………………..

มองในแงดี ผมว่ากลไกของปวารณาบัตร-ถ้ามีจริงทำได้จริง-จะช่วยสกรีนการครองชีพและวิธีคิดของพระเณรได้ทางหนึ่ง

คือ-วิธีถวายเงินใส่มือไปตรงๆ แล้วพระเณรเอาเงินไปจับจ่ายตามใจชอบอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้นั้น สะดวกสบายจริง คล่องตัวจริง พระเณรดำรงชีพอยู่ในสังคมปัจจุบันได้สะดวกสบายดีจริง แต่ไม่มีอะไรคัดกรองว่า ความสะดวกสบายเหล่านั้นสมควรแก่สมณบริโภคแค่ไหนเพียงไร ดังที่มีเสียงบ่นอันเป็นที่รู้ทั่วกันว่า-พระเณรทุกวันนี้ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน

ปวารณาบัตรจะช่วยคัดกรองว่า – สิ่งนี้มีไม่ได้ สิ่งนี้ใช้ไม่ได้ สิ่งนี้ไม่สมควรแก่สมณบริโภค – นั่นเท่ากับเป็นเครื่องเตือนสติไปในตัว

อันที่จริง กฎกติกาแบบนี้ ทุกวันนี้บางวัดบางสำนักก็ใช้บังคับอยู่ เช่นบางวัดไม่ให้ดูโทรทัศน์ ไม่ให้มีวิทยุ ไม่ให้ใช้โทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ากฎกติกาแบบนี้สามารถปฏิบัติตามได้จริง

การใช้กลไกทางปวารณาบัตรจึงไม่ใช่การจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้เพราะเมื่อใช้สิทธิ์เข้ามาแต่งเครื่องแบบของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของพระพุทธเจ้าด้วย 

ใครไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะสละสิทธิ์อยู่แล้ว อย่างที่พูดข้างต้น – ง่ายๆ ตรงไปตรงมา

ผมยังมีความหวังอยู่ว่า-แนวคิดเรื่องปวารณาบัตรเพื่อช่วยให้พระภิกษุสามเณรไม่ต้องละเมิดพุทธบัญญัติ แต่สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ได้-ถ้ายังมีคนรับฟัง และยังมีคนจำได้ สักวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่มีหัวใจเป็นมหาบุรุษเอาไปคิดทำให้สำเร็จได้-ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในชั่วชีวิตเรา

บทความชุด : ถ้าจะรักษาพระศาสนาจงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ ตอนที่ ๙ –

ปวารณา: พยานปากเอกที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ – ควรจะจบเพียงแค่นี้ 

แต่บทความชุดนี้ยังไม่จบตามเค้าโครงที่คิดไว้นะครับ ยังมีตอนที่ ๑๐ และตอนต่อๆ ไปอีก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๐:๒๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *