บาลีวันละคำ

อาเทสนาปาฏิหาริย์ (บาลีวันละคำ 2,756)

อาเทสนาปาฏิหาริย์

ทายใจได้

แต่บางเรื่องทายไม่ได้

อ่านว่า อา-เท-สะ-นา-ปา-ติ-หาน

ประกอบด้วยคำว่า อาเทสนา + ปาฏิหาริย์

(๑) “อาเทสนา

อ่านว่า อา-เท-สะ-นา ประกอบด้วยคำว่า อา + เทสนา

(ก) “อา” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำนามหรือกริยา นักเรียนบาลีจำติดปากว่า “อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ” คือทำให้นามหรือกริยาคำนั้นมีความหมายเพิ่มขึ้นว่า –ทั่วยิ่ง หรือ กลับความ เช่น –

คมน = ไป

อาคมน = มา คือกลับความจาก “ไป” เป็น “มา

(ข) “เทสนา

อ่านว่า เท-สะ-นา รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ

เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)

(2) ควบกับ ธมฺม+เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)

(3) การยอมรับ (โดยชอบด้วยกฎหมาย) ([legal] acknowledgment)

อา + เทสนา = อาเทสนา แปลตามศัพท์ว่า “การแสดงทั่วถึง” “การแสดงอย่างยิ่ง” (คือแสดงหรือบอกกล่าวได้ดียิ่งกว่าปกติ) หมายถึง การชี้บอก, การคาดคะเน, การพยากรณ์ (pointing out, guessing, prophesy)

(๒) “ปาฏิหาริย์

บาลีเป็น “ปาฏิหาริย” อ่านว่า ปา-ติ-หา-ริ-ยะ (มีรูปคำอื่นๆ อีกด้วย) รากศัพท์มาจาก

(1) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), แปลง หิ เป็น หาริย

: ปฏิ + หิ = ปฏิหิ + = ปฏิหิณ > ปาฏิหิณ > ปาฏิหิ > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า “พลังที่เป็นไปในปฏิปักษ์คือฝ่ายตรงข้าม

(2) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) (ภาษาไวยากรณ์ว่า “อะ ต้นธาตุ”) เป็น อา (หรฺ > หาร), ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (หรฺ > หาร + อิ + ณฺย > )

: ปฏิ + หรฺ = ปฏิหรฺ + อิ + ณฺย = ปฏิหริณฺย > ปาฏิหริณฺย > ปาฏิหาริณฺย > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า (1) “พลังที่นำไปเสียซึ่งปฏิปักษ์” (คือสามารถกำจัดปรปักษ์ได้) (2) “พลังอันผู้เสร็จกิจแล้วในเพราะจิตตั้งมั่นและปราศจากอุปกิเลสแล้วนำให้เป็นไปเฉพาะ” (คือเมื่อจิตตั้งมั่นถึงระดับแล้วพลังชนิดนี้จะเกิดขึ้นและแสดงออกมาได้ตามที่ต้องการ)

โปรดสังเกตว่า “ปาฏิหาริย” มักใช้ต่อเมื่อมี “ปฏิปักษ์” คือฝ่ายตรงข้าม หรือมีอีกฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นเท่านั้น

ปาฏิหาริย” ใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งอัศจรรย์, เรื่องเหลือเชื่อเหนือความคาดหมาย (wonder, miracle) ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง ประหลาด, อัศจรรย์, วิสามัญ, พิเศษ (striking, surprising, extraordinary, special)

ปาฏิหาริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาฏิหาริย์” (ปา-ติหาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฏิหาริย์ : (คำนาม) สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, มี ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ = ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ = การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ = การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์. (ปาก) ก. กระทำสิ่งที่ตามปรกติทำไม่ได้ เช่น ปาฏิหาริย์ขึ้นไปอยู่บนหลังคา. (ป.; ส. ปฺราติหารฺย).”

อาเทสนา + ปาฏิหาริย = อาเทสนาปาฏิหาริย (อา-เท-สะ-นา-ปา-ติ-หา-ริ-ยะ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาเทสนาปาฏิหาริย” ว่า trick or marvellous ability of mind-reading or guessing other peoples character (ปาฏิหาริย์หรือความสามารถอย่างอัศจรรย์ในการอ่านจิตใจหรือทายนิสัยคน)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อาเทสนาปาฏิหาริย” เป็นอังกฤษว่า marvel of mind-reading

อาเทสนาปาฏิหาริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น อาเทสนาปาฏิหาริย์(อา-เท-สะ-นา-ปา-ติ-หาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาเทสนาปาฏิหาริย์ : (คำนาม) การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์, เป็นปาฏิหาริย์อย่าง ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓ ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อาเทสนาปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์ คือ การทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิตต์อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๒ ในปาฏิหาริย์ ๓).”

ธรรมบรรณาการ :

ผู้อบรมจิตบำเพ็ญเพียรถึงขนาดอาจบรรลุ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” สามารถทายใจทายความคิดของคนทั้งหลายได้

แต่ท่านว่า ในโลกนี้มีอยู่ 5 เรื่องที่คนธรรมดาแม้จะมีปาฏิหาริย์ขนาดไหนก็ทายมิได้เลย

ท่านผูกเป็นคาถาว่าดังนี้ –

…………..

ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ

เทหนิกฺเขปนํ คติ

ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ

อนิมิตฺตา น นายเร.

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 10 อนุสติกัมมฐานนิทเทส

แปลไขความ –

ชีวิตํ – ชีวิตจะอยู่นานสักปานใดจึงจะตาย

พฺยาธิ – จะตายด้วยโรคอะไร

กาโล – จะตายเวลาไหน

เทหนิกฺเขปนํ – จะตายที่ตรงไหน

คติ – ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน

5 เรื่องนี้ ทายไม่ได้ รู้ไม่ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ใจคนทั้งพิภพจบสากล

: แต่ไม่รู้ใจตนก็โง่ตาย

#บาลีวันละคำ (2,756)

29-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *