บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๒) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ตอนนี้ขออนุญาตแวะข้างทางสักครู่นะครับ

คำปวารณาที่ลงไว้ในตอนที่แล้ว ข้อความที่เป็นเนื้อๆ มีดังนี้ –

…………………………….

เจ้าภาพมีจิตศรัทธาขอปวารณาปัจจัยสี่แด่พระคุณเจ้าเป็นมูลค่ารูปละ … บาท* ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรแล้ว ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรของพระคุณเจ้านั้น เทอญ

…………………………….

ขออนุญาตแวะตรงนี้นิดหนึ่งเพราะมีบางคำที่ควรขยายความสู่กันฟัง

คำเรียกจำนวนเงินว่า “บาท” นั้น ชาวสำนักประชุมนารีของวัดมหาธาตุราชบุรี คือแม่ชีทั้งหลาย เมื่อกล่าวคำปวารณาท่านจะใช้คำว่า “พับ” แทน เช่น 

“ขอปวารณาปัจจัยสี่แด่พระคุณเจ้าเป็นมูลค่ารูปละ ๕๐ พับ” 

“๕๐ พับ” ก็คือ ๕๐ บาท

ทั้งนี้คงจะเห็นว่า คำว่า “บาท” เป็นการระบุโจ่งแจ้งว่า “ถวายเงิน” ซึ่งฟังดูน่าเกลียดเมื่อรู้อยู่ว่าพระรับเงินไม่ได้ (แล้วยังขืนจะถวายอยู่อีก) จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า “พับ” 

ผมฟังทีแรก (เมื่อปี ๒๕๐๖) ก็ยังงงอยู่ว่า “พับ” แปลว่าอะไร ต่อมาเมื่อได้ศึกษาสอบถามจึงได้ความว่า ลักษณะธนบัตรของไทยย่อมนิยมพับให้เป็นครึ่งหนึ่งของความยาว เวลามองธนบัตรก็เห็นเป็นกระดาษที่พับอยู่ สมมุติว่าหยิบธนบัตรราคา ๑ บาทมา ๑ ฉบับ ก็พูดได้ว่า เงินจำนวน ๑ พับ 

ท่านจึงเอาลักษณะที่ “พับ” นั้นมาใช้เรียกเงิน (ธนบัตร) แทนคำว่า “บาท” เพื่อลดความน่าเกลียด 

ทำนองเดียวกับเวลาพระสมัยก่อนจะซื้ออะไรสักอย่าง ท่านจะไม่ใช้คำว่า “ซื้อ” เพราะมีสิกขาบทห้ามภิกษุซื้อขาย แต่ท่านจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “เปลี่ยน” แทน เช่น ขอเปลี่ยนชากระป๋องหนึ่ง ก็คือ-ซื้อชากระป๋องหนึ่งนั่นแหละ 

และทำนองเดียวกับในวงการพระเครื่องพระบูชา เวลาซื้อขายก็ไม่เรียกว่าซื้อขาย ถ้าซื้อเรียกว่า “เช่า” ถ้าขายเรียกว่า “ปล่อย” 

ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่เกิดจากการมีสำนึกในความควรไม่ควรฝังอยู่ลึกๆ โดยแท้

…………………..

แถมอีกนิดหนึ่งครับ เรื่องภาษาของชาวสำนักประชุมนารี เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีคิดของผู้หญิงชาววัด

คำว่า “เอา” ในภาษาไทยซึ่งมีนัยแฝงหลายอย่าง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำนิยามตอนหนึ่งว่า “เอา: คําใช้แทนกริยาอื่น ๆ บางคําได้”) และ “นัย” หนึ่งที่คนมักจะนึกก็คือ การร่วมเพศ 

เมื่อจะพูดข้อความที่มีคำว่า “เอา” อยู่ในประโยค เช่น “เอาหนังสือไปด้วยนะ” “ไปเอาไม้กวาดมาสักอันซิ” ชาวสำนักประชุมนารีจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “นำ” แทน 

ตามตัวอย่างนั้น ชาวสำนักประชุมนารีจะพูดว่า “นำหนังสือไปด้วยนะ” “ไปนำไม้กวาดมาสักอันซิ”

อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “หม้อ” ซึ่งในภาษาไทยคนบางคน (หลายคน) มักจะใช้พูดให้มีนัยหมายถึง “อวัยวะเพศหญิง” 

เมื่อจะต้องเอ่ยถึงภาชนะที่เรียกกันว่า “หม้อ” ชาวสำนักประชุมนารีจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “อะลูมิเนียม” แทน

ความจริง คำว่า “อะลูมิเนียม” ถ้าหมายถึงภาชนะที่ใช้เกี่ยวกับการครัวหรือเครื่องครัว ก็มีหลายชนิด เช่น จาน ชาม ช้อน ถาด แก้ว รวมทั้งหม้อด้วย “อะลูมิเนียม” จึงไม่ได้หมายถึงหม้ออย่างเดียว 

แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้ หม้อที่ใช้กันทั่วไปก็ทำด้วยอะลูมิเนียมเกือบทั้งนั้น เมื่อใช้คำว่า “อะลูมิเนียม” และหมายถึง “หม้อ” ก็พอจะเข้าใจได้ แม้จะฟังทะแม่งๆ อยู่สักหน่อย 

ยังนึกสงสัยอยู่ว่า-แล้วหม้อดิน ชาวสำนักประชุมนารีจะเรียกว่า “อะลูมิเนียมดิน” หรืออย่างไร

ภาษาที่เราพูดกันบางคำก็เข้าลักษณะนี้ ที่พอจะนึกเทียบได้ก็อย่างเช่น แกงเทโพ และกระเพาะปลา แกงเทโพนั้นของเดิมแกงปลาเทโพจริงๆ กระเพาะปลาก็เป็นถุงลมปลาจริงๆ แต่เมื่อเรียกกันจนชินไปแล้ว ทุกวันนี้ใช้หมูแทนก็ยังคงเรียกกันว่าแกงเทโพ ใช้หนังหมูแทนก็ยังเรียกกันว่ากระเพาะปลา

นำเรื่องนี้มาบันทึกแทรกไว้ตรงนี้เพื่อรักษาเรื่องเก่าที่น่ารู้ ชาววัดมหาธาตุราชบุรีรุ่นเก่าน่าจะรู้เรื่องภาษาของชาวสำนักประชุมนารีดังที่เล่ามากันทั้งนั้น แต่คงไม่มีใครบันทึกไว้ ที่นำมาเล่าไว้นี้พูดตามสำนวนเก่าก็ว่า-เพื่อมิให้เรื่องสูญเสีย

ต่อไปก็จะได้กลับเข้าประเด็นเรื่อง “ปวารณา”

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๘:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *