ยาจิต (บาลีวันละคำ 2,300)
ยาจิต
อย่าคิดว่าไม่ใช่บาลี
อ่านแบบคำไทยว่า ยา-จิด
“ยาจิต” บาลีอ่านว่า ยา-จิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ยาจฺ (ธาตุ = ขอ) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมหลังธาตุ หน้าปัจจัย (ยาจฺ + อิ + ต)
: ยาจฺ + อิ (= ยาจิ) + ต = ยาจิต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาขอแล้ว”
“ยาจิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นกริยาและคุณศัพท์ หมายถึง ขอ, ขอร้อง, วอนขอ, ขอยืม (begged, entreated, asked, borrowed)
(2) เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่ยืมมา, ของที่ยืมมา (anything borrowed, borrowed goods)
“ยาจิต” อ่านแบบไทยว่า ยา-จิด เทียบคำว่า “มานิต” บาลีอ่านว่า มา-นิ-ตะ อ่านแบบไทยว่า มา-นิด
เมื่ออ่านว่า ยา-จิด ก็ไปตรงกับ “ยาจิต”คำไทย ซึ่งมาจากคำว่า ยา + จิต
“ยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยา ๑ : (คำนาม) สิ่งที่ใช้แก้หรือป้องกันโรค หรือบำรุงร่างกาย เรียกชื่อต่าง ๆ กัน คือ เรียกตามลักษณะก็มี เช่น ยาผง ยาเม็ด ยานํ้า เรียกตามสีก็มี เช่น ยาแดง ยาเขียว ยาเหลือง ยาดำ เรียกตามรสหรือกลิ่นก็มี เช่น ยาขม ยาหอม เรียกตามวิธีทำก็มี เช่น ยาต้ม ยากลั่น ยาดอง เรียกตามกิริยาที่ใช้ก็มี เช่น ยากวาด ยากิน ยาฉีด ยาดม ยาอม; เรียกยาฝิ่นว่า ยา ก็มี เช่น โรงยา; สารเคมีสำหรับเคลือบเงินทองให้มีสีต่าง ๆ; ก. ทำให้หายโรค, รักษาให้หาย, ในคำว่า เยียวยา; ทำให้หายรั่ว เช่น ยาเรือ.”
“จิต” มาจากบาลีว่า “จิตฺต” (จิด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” หมายถึง จิต, ใจ อันเป็นที่เก็บสั่งสมบุญบาปไว้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –
the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)
“จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “จิต” อ่านว่า จิด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”
“จิต” ก็คือ ใจ “ยาจิต” ก็คือ “ยาใจ” นั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยาใจ : (คำวิเศษณ์) เป็นที่บํารุงหัวใจ, เป็นที่ชื่นใจ.”
กล่าวได้ว่า “ยาใจ” นั่นเอง เราเอามาแผลงคำให้ยักเยื้องออกไปเป็น “ยาจิต”
อภิปรายขยายความ :
“ยาจิต” มักใช้เป็นชื่อสตรี มีความหมายว่า ผู้เป็นที่ชื่นใจ คือเป็นที่รักที่ชื่นใจของคนทั้งหลาย เป็นลูกก็เป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ เป็นภรรยาก็เป็นที่ชื่นใจของสามี
แต่ “ยาจิต” คำนี้นี่เอง ถ้าเป็นคำบาลี ความหมายก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนคำไทย อาจคิดให้เป็นตรงกันข้ามกันเลยก็ได้ เพราะ “ยาจิต” คำบาลีหมายถึง สิ่งที่ยืมเขามา ไม่ใช่สมบัติของเราเอง เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืนเจ้าของเขาไป คิดอย่างนี้ตามวิสัยชาวโลก ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นใจแต่ประการใด
ในคัมภีร์มีคำอันเป็นสุภาษิตกล่าวไว้ว่า –
ยถา ยาจิตกํ ยานํ
ยถา ยาจิตกํ ธนํ
เอวํ สมฺปทเมเวตํ
ยํ ปรโต ทานปจฺจยา.
ขอยืมยานเขามาขับ
ขอยืมทรัพย์เขามาใช้ ฉันใด
การเสวยความสุขที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้
ก็เปรียบกันได้ ฉันนั้นแล
ที่มา : สาธินราชชาดก ปกิณกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1998
ผู้หนักในธรรมมักกล่าวว่า ทรัพย์สินเงินทอง ยศศักดิ์ ตำแหน่งฐานะ ตลอดจนผู้คนที่เรายึดถือว่าเป็นนั่นเป็นนี่กับเรา ชั้นที่สุดแม้แต่ตัวตนของเราเอง เป็นของที่ยืมเขามาใช้ชั่วคราวทั้งสิ้น ในที่สุดก็ต้องคืนให้แก่โลก หรือคืนเจ้าของเขาไป
สัจธรรมข้อนี้นิยมพูดกันทั่วไป แต่การ “พูดถึง” ย่อมเป็นคนละอย่างกับการ “เข้าถึง”
…………..
ดูก่อนภราดา!
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า —
: ไม่ใช่มีไว้เพียงเพื่อรู้หรือเพื่อจำ
: แต่-เพื่อทำให้ได้จริง
#บาลีวันละคำ (2,300)
29-9-61