บทความชุด :
บทความชุด :
ถ้าจะรักษาพระศาสนา
จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์
-๙-
ปวารณา: พยานปากเอก- (๓)
———————————–
ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ
ชั่วเวลาไม่ถึง ๑๐๐ ปี เรื่อง “ปวารณา” ที่ชาววัดชาวบ้านรู้จักกันดีกลายเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีคนรู้จักเสียแล้วในวันนี้
เริ่มไปตั้งแต่คำว่า “ปวารณา” นั่นเลย คนส่วนมากแม้จะอ่านที่เขียนไว้ก็อ่านไม่ถูก ไม่ต้องพูดถึงว่าจะให้เขียนเอง และไม่ต้องพูดถึงว่าจะให้อธิบายความหมาย
เคยได้ยินคนพูดคำนี้ว่า ปะ-รา-วะ-นา บ่อยมาก
ที่เขียนเป็น “ปราวณา” จริงๆ ก็พบมาก-แม้แต่คนที่จบปริญญา
แน่นอน ชาววัดและพวกที่ไปจากวัด-เช่นทองย้อยเป็นต้น-โดนตำหนิก่อนเพื่อน —
คุณรู้ ทำไมคุณไม่บอกเขา
เขาไม่ได้เรียนมาเหมือนพวกคุณนี่
เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา
บรรดาท่าน “เขาๆ” ที่ไม่มีอุตสาหะสนใจใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา นั่งรอให้เทวดาบันดาลให้รู้ได้เอง ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น เจริญเลย
แม้ในหมู่พระเณรนั่นเอง ที่ไม่รู้เรื่องปวารณาก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนมากรู้แต่ปวารณาออกพรรษา (และที่พูดเพลินไปว่า-ปวารณาเข้าพรรษา ก็มีมากขึ้นด้วย!!)
แต่ปวารณาให้ขอสิ่งของ ปวารณาให้เรียกใช้ หรือปวารณาถวายเงิน ไม่รู้
ทุกวันนี้ชาวบ้านนิมนต์พระไปในงานบุญ สวดเสร็จ ฉันเสร็จ ถวายปัจจัยสดๆ เสร็จกันตรงนั้นเลย ไม่มีใครคิดถึงปวารณา
แต่กลับไปรู้จักเข้าใจซาบซึ้งดีกับคำว่า “ใส่ซอง”
พูดว่า “ใส่ซอง” คนเดี๋ยวนี้เข้าใจทันทีว่าเตรียมเงินถวายพระ แล้วก็แนบไปเครื่องไทยธรรมนั่นเลย ประเคนถึงมือกันตรงนั้นเลย ม้วนเดียวจบ
เพราะทำอย่างนี้กันทั่วไป พอใครไปเอ่ยถึง “ปวารณา” เลยกลายเป็นเรื่องประหลาด เพราะไม่มีใครเขาทำกัน
ขอย้ำว่า ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้เหมาเข่งนะครับ ชาวบ้านที่รู้เรื่องปวารณา พิธีกรที่ยังคงยืนหยัดถวายเงินด้วยวิธีกล่าวคำปวารณา พระเณรที่รู้เข้าใจเรื่องปวารณา และวัดที่ยังคงเคร่งครัดเรื่องปวารณา ก็ยังมีอยู่ ควรแก่การอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง
………………..
สรุปเป็นภาพรวมไว้ทีหนึ่งก่อน –
๑ พระภิกษุสามเณรรับเงิน จ่ายเงินซื้อของเองไม่ได้ มีพุทธบัญญัติห้ามไว้
๒ แต่มีพุทธานุญาตให้ญาติโยมปวารณาไว้กับพระเณรได้ คือต้องการอะไรให้ไปบอกโยม โยมจะจัดหาให้ พระไม่ต้องไปซื้อไปจ่ายด้วยตนเองอันเป็นการละเมิดพุทธบัญญัติ
๓ กรณีที่โยมผู้ปวารณาไม่สะดวกที่จะไปดำเนินการจัดหาให้ด้วยตนเอง ก็อาจจะทำความตกลงกับคนที่สามารถดำเนินการแทนให้ได้ โดยมอบค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งของนั้นๆ ไว้แก่บุคคลผู้นั้น กรณีเช่นนี้โยมก็จะแจ้งให้พระเณรทราบด้วย พระเณรทราบแล้วจะได้ไปขอกับโยมคนนั้นแทน ไม่ต้องไปขอกับโยมคนที่ปวารณา
๔ กรณีเช่นนี้เป็นเหตุให้มีคนที่ปรารถนาจะได้บุญด้วย คือตนเองไม่มีเงินพอที่จะไปจัดหาของที่พระเณรต้องการ แต่รับอาสาเจ้าของเงินไปดำเนินการแทนให้ การกระทำเช่นนี้เป็นการทำบุญที่เรียกว่า ไวยาวัจมัย แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายทำกิจธุระที่สมควร ผู้ทำกิจเช่นนี้เรียกว่า ไวยาวัจกร
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้วัดทุกวัดมีไวยาวัจกร ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย
๕ ในที่สุดก็เกิดวิธีปฏิบัติที่ลงตัว กล่าวคือ ชาวบ้านที่มีศรัทธาประสงค์จะสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรไม่ให้ฝืดเคืองด้วยปัจจัยสี่ตามวิถีชีวิตสงฆ์ ก็เอาเงินไปมอบให้ไวยาวัจกร โดยตกลงรายละเอียดว่าถ้าพระเณรรูปไหนต้องการอะไรก็ให้ไวยาวัจกรใช้เงินที่มอบให้นี้ไปจัดการจับจ่ายซื้อหามาถวายท่าน ข้อตกลงนี้ชาวบ้านผู้ถวายก็จะบอกกล่าวให้พระเณรรับทราบด้วย นี่คือที่มาของการกล่าวคำปวารณา
หัวใจของปวารณาอยู่ตรงนี้ คือ –
พระเณรไม่ต้องรับเงิน
แต่รับรู้ว่ามีผู้ถวายเงิน
ตัวเงินอยู่ที่ไวยาวัจกร
พระเณรต้องการอะไรก็ไปบอกไวยาวัจกร
ไวยาวัจกรก็เอาเงินที่มีผู้มอบไว้ให้นั้นไปจัดการซื้อหามาถวาย
ด้วยวิธีการอย่างนี้
พระเณรไม่ต้องรับเงิน
ไม่ต้องจับเงิน
ไม่ต้องจับจ่ายซื้อหาด้วยตัวเอง
ไม่ต้องละเมิดพุทธบัญญัติ
แต่มีปัจจัยเครื่องดำรงชีพตามวิถีชีวิตสงฆ์ได้อย่างพอเพียง
สาระที่ต้องการของวิธีปวารณาอยู่ตรงนี้
จับสาระตรงนี้ได้ก็จะเข้าใจชัดว่า วิธีปวารณาก็คือวิธีช่วยให้พระสงฆ์ไม่ต้องละเมิดพุทธบัญญัติ แต่สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ได้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๖:๒๒