บาลีวันละคำ

สังขยาหน่วย-สังขยาสิบ (บาลีวันละคำ 4,090)

สังขยาหน่วยสังขยาสิบ

บางทีก็ต้องจำเป็นคำๆ

“สังขยา” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺขฺยา” (ออกเสียงว่า สัง-เคีย จะได้เสียงบาลีตรงๆ) มีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) การระบุ, การนับ, การคำนวณหรือประมาณ (enumeration, calculation, estimating) 

(2) จำนวน (number) 

(3) การตั้งชื่อ, การนิยาม, ถ้อยคำ, ชื่อ (denomination, definition, word, name)

ความหมายที่เข้าใจกันมากที่สุด คือ การนับ หรือการระบุจำนวน ในที่นี้ก็หมายถึง คำระบุจำนวน (number)

สังขยาหน่วย” หมายถึง คำนับจำนวนตั้งแต่ หนึ่ง (1) ถึง เก้า (9) หรือจะว่า หนึ่ง ถึง สิบ (10) ก็ได้ แต่ สิบ ยกไปเป็น “สังขยาสิบ” ด้วย

สังขยาสิบ” หมายถึง คำนับจำนวนครบสิบ คือ สิบ ยี่สิบ จนถึง เก้าสิบ และอาจรวมถึง ร้อย (100) ด้วย

สังขยาหน่วย” คำบาลีว่าอย่างไร

หนึ่ง (1) = เอก (เอ-กะ)

สอง (2) = ทฺวิ (ทุ้ย)

สาม (3) = ติ (ติ)

สี่ (4) = จตุ (จะ-ตุ)

ห้า (5) = ปญฺจ (ปัน-จะ)

หก (6) = ฉ (ฉะ)

เจ็ด (7) = สตฺต (สัด-ตะ)

แปด (8 ) = อฏฺฐ (อัด-ถะ)

เก้า (9) = นว (นะ-วะ)

สิบ (10) = ทส (ทะ-สะ)

หมายเหตุ

(1) “สอง” คำบาลีว่า “ทฺวิ” บอกเสียงอ่านว่า ทุ้ย อย่านึกว่าเป็นคำตลก คำนี้เรามักออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ ซึ่งไม่ถูก เพราะ ทฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ไม่ใช่ ทะ- เต็มเสียง แต่ ท- สั้นๆ แล้วตัดไปที่ -วิ ทันที ลองออกเสียงช้าๆ ว่า ทุ – อิ๊ ซ้ำๆ แล้วค่อยเร็วขึ้น จะเห็นว่า “ทุ้ย” เป็นเสียงที่ถูกต้องที่สุด

(2) “” = หก บาลีอ่านว่า ฉะ เอามาใช้ในภาษาไทยนิยมอ่านว่า ฉอ เช่น “ฉศก” อ่านว่า ฉอ-สก ไม่ใช่ ฉะ-สก “ฉกษัตริย์” ชื่อกัณฑ์ที่ 12 ในมหาเวสสันดรชาดก อ่านว่า ฉอ-กะ-สัด คนเก่าอ่านว่า ฉ้อ-กะ-สัด ไม่ใช่ ฉะ-กะ-สัด

สังขยาสิบ” คำบาลีว่าอย่างไร

สิบ (10) = ทส

ยี่สิบ (20) = วีส, วีสติ

สามสิบ (30) = ตึส, ตึสติ

สี่สิบ (40) = จตฺตาลีส, จตฺตาฬีส

ห้าสิบ (50) = ปญฺญาส

หกสิบ (60) = สฏฺฐิ

เจ็ดสิบ (70) = สตฺตติ

แปดสิบ (80) = อสีติ

เก้าสิบ (90) = นวุติ

ร้อย (100) = สต

วิธีคิดสังขยาสิบแบบสนุกๆ :

สังขยาสิบ คือ สิบ ยี่สิบ สามสิบ … นั้น คิดแบบสนุกๆ ก็คือ เอาสังขยาหน่วยมารวมกับ สิบ คือ ทส เช่น ยี่สิบ ก็คือ ทฺวิ (สอง) + ทส (สิบ)

ยี่สิบ (20) = ทฺวิ + ทส ควรจะเป็น “ทฺวิทส” แต่เป็น “วีส” และ “วีสติ” (ดังจะให้เข้าใจว่า วี- คือตัดมาจาก (ทฺ)-วิ นั่นเอง)

สามสิบ (30) = ติ + ทส ควรจะเป็น “ติทส” แต่เป็น “ตึส” และ “ตึสติ

สี่สิบ (40) = จตุ + ทส ควรจะเป็น “จตุทส” แต่เป็น “จตฺตาลีส” และ “จตฺตาฬีส

ห้าสิบ (50) = ปญฺจ + ทส ควรจะเป็น “ปญฺจทส” แต่เป็น “ปญฺญาส

หกสิบ (60) = + ทส ควรจะเป็น “ฉทส” แต่เป็น “สฏฺฐิ

เจ็ดสิบ (70) = สตฺต + ทส ควรจะเป็น “สตฺตทส” แต่เป็น “สตฺตติ” 

แปดสิบ (80) = อฏฺฐ + ทส ควรจะเป็น “อฏฺฐทส” แต่เป็น “อสีติ

เก้าสิบ (90) = นว + ทส ควรจะเป็น “นวทส” แต่เป็น “นวุติ

ในทางกลับกัน :

ทฺวิทส” ไม่ใช่ 20 แต่เป็น “ทฺวาทส” = 12

ติทส” ไม่ใช่ 30 แต่เป็น “เตรส” = 13 

จตุทส” ไม่ใช่ 40 แต่เป็น “จุทฺทส” = 14 

ปญฺจทส” ไม่ใช่ 50 แต่เป็น “ปณฺณรส” = 15

ฉทส” ไม่ใช่ 60 แต่เป็น “โสฬส” = 16

สตฺตทส” ไม่ใช่ 70 แต่เป็น “สตฺตรส” = 17

อฏฺฐทส” ไม่ใช่ 80 แต่เป็น “อฏฺฐารส” = 18

ครั้นพอมาถึง 19 แทนที่จะเป็น “นวทส” กลับเป็น “เอกูนวีส” หรือ “อูนวีส” แปลตามศัพท์ว่า “ยี่สิบหย่อนหนึ่ง” = 19 

บาลีไม่มีศัพท์ “นวทส” หรือ “สิบเก้า” ตรงๆ แต่บอกว่า “ยี่สิบหย่อนหนึ่ง” 

เอกูนวีส” = ยี่สิบหย่อนหนึ่ง = 19

เอกูนตึส” = สามสิบหย่อนหนึ่ง = 29

เอกูนจตฺตาลีส” = สี่สิบหย่อนหนึ่ง = 39

ฯลฯ

นี่คือลีลาของบาลี ไม่เรียนไม่รู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ดวงดาวในจักรวาลล้านล้านดวง มีคนนับได้

: ความคิดในหัวใจ ชอบ-ชังกี่ครั้งต่อวัน รู้ไม่ทันนับไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,090)

24-8-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *