บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๕) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ข้อกล่าวหาทั้ง ๒ ข้อนั้น ผมมีคำอธิบาย และได้อธิบายถวายพระคุณเจ้ารูปนั้นแล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับ 

ผมขออนุญาตนำมาอธิบายในที่นี้ ญาติมิตรทั้งหลายไม่จำเป็นต้องยอมรับ ผมขอร้องเพียงแค่กรุณารับฟังเท่านั้น 

ในกระบวนการพิจารณาคดี เมื่อจำเลยขอให้การหรือแถลงความใดๆ ศาลท่านยังกรุณายอมให้แถลงและให้ผู้อยู่ในศาลอยู่ในความสงบ ฟังจำเลยแถลง ผมก็ขอใช้สิทธิ์แค่นั้น ขอเพียงแค่ให้เปิดใจรับฟัง ไม่ได้ขอให้ใครเห็นด้วย

……………………………………

(๑) ชาวพุทธที่รู้เรื่องพุทธบัญญัติก็มีมาก แต่ชาวพุทธที่มีศรัทธาอยากถวายเงินให้พระไปตรงๆ ก็มีมากเช่นกันและนิยมทำกันทั่วไป การยกเรื่องแบบนี้ขึ้นมาพูดเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ

……………………………………

การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะใช้วิธีให้อยู่กันเงียบๆ ก็ได้ แต่สิ่งที่จะต้องทำไปด้วยพร้อมๆ กันก็คือ (๑) ผู้รับผิดชอบต้องลงมือแก้ไข (๒) ต้องให้ความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแก่พระเณร แก่ชาวพุทธ และแก่สังคม

ถ้าอยู่เงียบๆ และไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ใครๆ ทำอะไรๆ กันตามสบายโดยอ้างความสะดวก และ “ชาวบ้านเขามีศรัทธาอยากทำแบบนี้” นั่นคือความวิบัติ

ระหว่างพุทธบัญญัติกับความนิยมทำกันมากๆ ต้องเลือกเอาพุทธบัญญัติไว้ แล้วแก้ไขความนิยมที่ผิดพลาด โดยช่วยกันหาความรู้และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สมาชิกของสังคม

การหาความรู้ต้องใช้ฉันทะ (ใจรัก) อย่างมาก เป็นงานที่หนัก ต้องผจญกับความยากหลากรูปแบบ

การให้ความรู้ต้องใช้วิริยะ (ใจกล้า) อย่างมาก เป็นงานที่เหนื่อย ต้องผจญกับผู้คนหลายรูปแบบ

เมื่อสมาชิกของสังคมมีความรู้ในระดับที่เสมอกันหรือใกล้เคียงกัน นั่นคือระดับที่ควรจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดอะไรควรอะไรไม่ควร ท่าทีที่จะปฏิบัติต่อผู้ก่อปัญหา-ไม่ว่าจะเป็นพระเณร เป็นวัด เป็นหน่วยงานหรือองค์กรอะไรก็ตาม ก็ย่อมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะเยื้องแย้งกันบ้างก็ไม่มาก ไม่ถึงกับแตกสามัคคี

ยกตัวอย่างเทียบให้เห็นง่ายๆ เช่น พระเณรฉันข้าวเย็น (ฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่-สิกขาบทที่ ๗ โภชนวรรค ปาจิตตีย์) ผิดพุทธบัญญัติ – นี่คือความรู้ที่สมาชิกของสังคมมีอยู่เท่าๆ กัน

เมื่อเห็นพระเณรฉันข้าวเย็น ก็ย่อมจะไม่มีใครเห็นด้วย หรือยอมรับ หรือเข้าข้าง หรือแก้ตัวให้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นไรหรอก ทำได้ เป็นเรื่องจำเป็น ฯลฯ อย่างที่นิยมยกขึ้นมาอ้างในกรณีรับเงิน หรือกรณีพระขับรถ หรือกรณีอื่นๆ

นี่คือการเล็งผลเลิศว่า-ถ้าสมาชิกของสังคมมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยทั่วถึงกัน ท่าทีต่อปัญหาต่างๆ ก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การลงมือแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ แต่การหาความรู้และให้ความรู้ในเรื่องนั้นๆ-เพื่อให้สมาชิกของสังคมมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยทั่วถึงกันและจะได้มีท่าทีต่อปัญหาต่างๆ อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน-ควรเป็นหน้าที่ของใคร

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มี ๒ ส่วน คือปัจเจกชนและองค์กร

ปัจเจกชน ก็คือชาวพุทธทั่วไป พระเณรแต่ละรูป อุบาสกอุบาสิกาแต่ละคน ผมเชื่อว่าปัจเจกชนเหล่านี้ที่กำลังทำหน้าที่ “หาความรู้” และ “ให้ความรู้” อยู่ ก็น่าจะมีอยู่ทั่วๆ ไป

ส่วนองค์กรนั้น ในภาพรวมก็คือคณะสงฆ์ ชี้ไปที่หน่วยงานก็คือมหาเถรสมาคม

งานหาความรู้ให้ความรู้นั้น ถ้าปัจเจกชนทำก็เหนื่อยมาก แต่น้ำหนักงานน้อย

เหนื่อยมาก เพราะทำเป็นงานส่วนตัว ต้องช่วยตัวเอง สนับสนุนตัวเอง ดิ้นรนเอง แก้ปัญหาเอง เหนื่อยตลอด ผมซาบซึ้งกับสภาพเช่นนี้เพราะผจญมากับตัวเอง

น้ำหนักงานน้อย เพราะเมื่อหาความรู้มาได้และบอกความรู้นั้นไป คนก็มักจะมองว่า – 

มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของท่านเจ้าคุณนี่

มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของท่านมหานั่น

มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของอาจารย์โน่น

ตลอดจน-มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของทองย้อย

งานหาความรู้และให้ความรู้ ถ้าคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคมทำ จะเหนื่อยน้อย แต่น้ำหนักงานมาก

เหนื่อยน้อย เพราะคณะสงฆ์มีทรัพยากรพร้อมบริบูรณ์ ทั้งคน ทั้งเครื่องมือ ทั้งเงิน ระดมมาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

น้ำหนักงานมาก เพราะเมื่อหาความรู้มาได้และบอกความรู้นั้นไป คราวนี้จะไม่ใช่แค่ความเห็นส่วนตัวของท่านเจ้าคุณนั่นหรือท่านอาจารย์ไหนอีกแล้ว แต่จะเป็นมติของคณะสงฆ์ไทยที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งจะต้องรับรู้ทั่วกันในสังฆมณฑล ตลอดไปจนทั่วโลก และต้องถือปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเอกภาพ

ในส่วนปัจเจกชน ท่านเจ้าคุณนี่ ท่านมหานั่น ท่านอาจารย์โน่น กำลังทำงานหาความรู้และให้ความรู้แก่ญาติโยมกันอยู่ตามสัตติกำลัง ก็พอมีอยู่บ้าง

แต่ในส่วนคณะสงฆ์เล่า หน่วยงานที่กำลังทำงานหาความรู้และให้ความรู้เกี่ยวกับหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแก่สังคมอยู่อย่างขะมักเขม้น มีบ้างไหม? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๖:๓๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *