บาลีวันละคำ

วันพระ – วันเณร (บาลีวันละคำ 2,008)

วันพระวันเณร

คำพูดเล่นๆ ชวนให้เข้าใจผิดจริงๆ

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

หลักความรู้ :

ความหมายของคำว่า “พระ” ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีดังนี้ –

(๑) (คำนาม) : คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ

(๒) (คำนาม) : พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ

(๓) (คำนาม) : นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

(๔) (คำนาม) : ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง

๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์

๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี

๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์

๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ

(๕) (คำนาม) : อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา

(๖) (คำนาม) : บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๗) (คำนาม) : โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.

(๘) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) : คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).

ที่คำว่า “วันพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วันพระ : (คำนาม) วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ คํ่า ขึ้น ๑๕ คํ่า แรม ๘ คํ่า และแรม ๑๕ คํ่า ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ คํ่า.”

เป็นอันว่า “พระ” ในที่นี้ตรงกับความหมายในข้อ (๑) ข้างต้น คือหมายถึง “วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา

ถ้าจะชี้ชัดลงไป “พระ” ในที่นี้ก็หมายถึงพระธรรม คือการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

วันพระ” ก็คือวันที่หยุดพักกิจการงานอื่นๆ แล้วใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมกิจวัตรทางธรรม หรือที่พจนานุกรมฯ ใช้คำว่า “ถือศีลฟังธรรม” สอดคล้องกับคำเรียกวันพระอีกคำหนึ่งว่า “วันธรรมสวนะ” ซึ่งแปลว่า “วันฟังธรรม” (น่าประหลาดอย่างยิ่งที่คำว่า “ธรรมสวนะ” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน!!)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “วันพระ” เป็นภาษาอังกฤษว่า the Buddhist holy day, the Buddhist sabbath.

คำว่า holy day พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลว่า วันพิธีในศาสนา, วันเทศกาล, วันพระ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

วันพระ (Uposathadivasa) : the Buddhist holy day; Buddhist Sabbath; day of merit-making; observance day.”

คำอักษรโรมันในวงเล็บอ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ-ดิ-วะ-สะ

ถอดเป็นอักษรไทยว่า “อุโปสถทิวส” แปลทับศัพท์ว่า “วันอุโบสถ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อุโบสถ” บอกไว้ในข้อ 3 ดังนี้ –

“3. วันอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ คือ วันจันทร์เพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) และวันจันทร์ดับ (แรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำเมื่อเดือนขาด), สำหรับคฤหัสถ์ คือ วันพระ ได้แก่ วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ วันจันทร์เพ็ญ และวันจันทร์ดับ”

…………..

อภิปราย :

ทั้งหลายทั้งปวงที่แสดงมานี้ยืนยันว่า คำว่า “พระ” ในคำว่า “วันพระ” ไม่ได้หมายถึง นักบวช หรือภิกษุ (ดูความหมายของคำว่า “พระ” ตามพจนานุกรมฯ ข้อ (๓) และข้อ (๔) หมายเลข ๔. ข้างต้น) หรือ “พระ” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า a monk, a priest

คำว่า “วันพระวันเณร” ที่นำมาเสนอนี้เก็บมาจากคำพูดที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ รวมทั้งคำในภาพประกอบที่เขียนว่า “วันนี้วันพระ เณรไม่เกี่ยว” ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นคำที่มีเจตนาจะพูดเล่นๆ ในเชิงขำขัน

แต่การที่เอาคำว่า “เณร” ซึ่งหมายถึง “สามเณร” มาเทียบคู่กับ “พระ” นั่นเองบอกให้รู้ว่า ผู้พูดคำนี้กำลังจะบอกว่า “พระ” ในคำว่า “วันพระ” หมายถึงภิกษุ หรือ a monk หรือ a priest ในภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นก็คือการบอกความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั่นเอง

การใช้คำพูดเช่นนี้หากไม่ใช่การพูดเล่นขำๆ ก็ต้องแปลว่าผู้พูดเข้าใจว่า “พระ” ในที่นี้หมายถึงภิกษุ หรือ a monk หรือ a priest ซึ่งถ้าเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ ก็จะกลายเป็นโทษขึ้นมาทันที เพราะเป็นการเข้าใจผิดจากความเป็นจริง

การเอาคำนั้นมาพูด ไม่ว่าจะด้วยเจตนาพูดเล่น หรือด้วยความเข้าใจผิดจริงๆ ก็เท่ากับเผยแพร่ความเข้าใจผิดให้กระจายออกไปอีก

จะเห็นได้แล้วว่า คำบางคำ เรื่องบางเรื่อง ไม่สมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะนำมาพูดเล่น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สำหรับปุถุชน การเล่นสนุกอาจเป็นความจำเป็น

: แต่การรู้ว่าอะไรไม่ใช่ของเล่น ยิ่งเป็นความจำเป็นสำหรับปุถุชน

#บาลีวันละคำ (2,008)

11-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย