บทความชุด :
บทความชุด :
ถ้าจะรักษาพระศาสนา
จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์
-๙-
ปวารณา: พยานปากเอก- (๗)
———————————–
ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ
เมื่อเริ่มต้นคิดที่จะช่วยให้พระเณรไม่ต้องรับเงินไม่ต้องจับจ่ายเงินด้วยตนเองก็สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน ก็ต้องพูดความจริงและยอมรับความจริงกันก่อน
และการพูดความจริงบางอย่างอาจเจ็บปวดบ้าง-เหมือนผ่าตัด ต้องยอมเจ็บบ้าง
กราบขอประทานอภัยที่จะต้องพูดว่า กรณีพระเณรรับเงินใช้เงินเหมือนชาวบ้าน ถ้าจะอุปมาให้เห็นภาพชัดก็ต้องอุปมาเหมือนคนที่ตกหลุมคูถ
คนตกหลุมคูถ ต้องพยายามหาทางป่ายปีนขึ้นจากหลุมคูถ
ไม่ใช่พยายามหาวิธีอยู่ในหลุมคูถต่อไป
คำอ้างที่ว่า-ถ้าไม่รับเงิน ไม่ใช้เงิน พระจะอยู่ไม่ได้ นั่นคือการพยายามหาวิธีอยู่ในหลุมคูถต่อไป
เมื่อพระตกไปในหลุมคูถเช่นนี้ เมื่อจะช่วยท่าน คุณสมบัติจำเป็นข้อสำคัญก็คือ อย่ารังเกียจท่าน
พระสงฆ์ที่ผมรู้จักคบคุ้นอยู่ทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าแทบทุกรูปรับเงิน หยิบจับเงินใช้จ่ายด้วยตนเอง หลายรูปไม่ต้องสงสัยเพราะท่านทำให้เห็นแจ้งๆ
แต่ผมไม่เคยรังเกียจท่านเหล่านั้นเลยแม้สักขณะจิต
ท่านทำเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องของท่าน เป็นเรื่องที่ท่านก็ต้องรับผิดตัวท่านเอง หรือพูดกันตรงๆ ก็เป็นความบกพร่องของท่านเอง
แต่การเคารพนับถือเป็นหน้าที่ของเรา ต้องแยกกันให้ออก
ถ้าเราขาดความเคารพนับถือ หรือถึงกับรังเกียจตัวท่าน เราก็บกพร่องไปอีกคนหนึ่ง
โบราณท่านเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องแบบนี้ จึงเตือนสติไว้ว่า –
…………………………
ไม่ไหว้คน ก็ให้ไหว้ผ้าเหลือง
ไม่เห็นแก่คน ก็ให้เห็นแก่ผ้าเหลือง
…………………………
แต่คนส่วนหนึ่ง-ซึ่งน่าจะมีไม่น้อยทีเดียว-ไม่ฟังโบราณ เห็นพระประพฤติบกพร่องที่ไหนเป็นต้องรุมจิกรุมด่ารุมกระทืบ อ้างว่าพระศาสนาจะสะอาด ต้องช่วยกันพิฆาตอลัชชี
ผมอยากจะบอกว่า รุมจิกรุมด่ารุมกระทืบรุมพิฆาตพระที่ประพฤติบกพร่อง จะไม่ช่วยทำให้พระศาสนาสะอาดขึ้นมาได้เลย
แต่จะทำให้พระศาสนายับเยินยิ่งขึ้น
………………….
ผมประกาศเสมอว่า ผมเข้าข้างพระทุกกรณี
พระประพฤติบกพร่อง ผมไม่เห็นด้วยกับความประพฤติบกพร่อง แต่ผมอยู่ข้างท่าน
พระทะเลาะกับชาวบ้าน แม้พระจะผิด ผมก็เข้าข้างพระ
พระกับพระทะเลาะกันเอง ผมเข้าทั้งสองข้าง
หลักของผมก็คือ เราอยู่ข้างใคร เราจะมีโอกาสช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของเขาได้มากที่สุด โดยอาศัยสิทธิความเป็นพวกเดียวกัน และเพราะความเป็นพวกเดียวกันนั่นเอง มีโอกาสมากที่สุดที่เขาจะฟังเรา นั่นคือเรามีโอกาสมากที่สุดที่จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่อง
แต่ถ้าเราไปอยู่เสียอีกฝั่งหนึ่ง โอกาสที่จะช่วยแก้ไขความบกพร่องจะเป็นศูนย์ เขาจะไม่ฟังเราเพราะอยู่กันคนละพวก ความบกพร่องใดๆ ที่เขาทำขึ้นหรือที่เขามีอยู่ก็จะคงติดอยู่กับเขาตลอดไป ซึ่งนั่นก็คือเขาก็จะมีโอกาสสร้างปัญหาได้ตลอดไปนั่นเอง
………………….
ผมพยายามหาทางที่จะช่วยให้พระเณรขึ้นมาจากหลุมคูถ
แนวคิดของผมก็คือ ถ้าเราช่วยกันคิดหาทางตั้งแต่วันนี้ วันหนึ่งจะต้องทำสำเร็จ
แต่ถ้าไม่คิดหาทางตั้งแต่วันนี้ เราก็จะอยู่ในหลุมคูถกันตลอดไป
……………………………
ข้อเท็จจริง: เคยมีคนที่ตกหลุมคูถนี้ แล้วตะเกียกตะกายหาทางกลับขึ้นไปได้สำเร็จ
เพราะฉะนั้น คนที่กำลังตกหลุมคูถในวันนี้ ถ้าพยายามตะเกียกตะกายหาทางกลับขึ้นไป ก็จะสามารถทำสำเร็จได้สักวันหนึ่ง
เป้าหมาย: พระภิกษุสามเณรไม่ต้องรับเงิน ไม่ต้องหยิบจับเงินออกมาจ่าย แต่สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างสบาย ตามสภาพของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา
วิธีการ: จัดทำปวารณาบัตรประจำตัวพระภิกษุสามเณร
……………………………
ปวารณาบัตรมีแนวคิดมาจากพุทธานุญาตเรื่องปวารณาดังที่ได้พูดไว้แล้วในตอนแรกๆ
พุทธานุญาตเรื่องปวารณามีต้นเหตุมาจากเศรษฐีท่านหนึ่งเห็นความลำบากของพระในเวลาเดินทางในถิ่นกันดาร พระจะหาซื้อเสบียงเองก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ไม่มีเงินเพราะมีพุทธบัญญัติห้ามรับเงิน เศรษฐีจึงทูลขอให้มีพุทธานุญาตให้พระรับเสบียงที่มีผู้จัดซื้อถวายได้
จึงเกิดเป็นหลักการปวารณา คือ –
๑ มีผู้มีศรัทธาบริจาคเงิน
๒ มีผู้เอาเงินนั้นไปจัดซื้อของถวายพระ
๓ มีพุทธานุญาตให้พระรับของนั้นได้
ขอเชิญศึกษาพระไตรปิฎกเป็นการเจริญปัญญา
……………………………
สนฺติ ภิกฺขเว มนุสฺสา สทฺธา ปสนฺนา
เต กปฺปิยการกานํ หตฺเถ หิรญฺญสุวณฺณํ อุปนิกฺขิปนฺติ
อิมินา ยํ อยฺยสฺส กปฺปิยํ ตํ เทถาติ ฯ
……………………………
สนฺติ ภิกฺขเว มนุสฺสา สทฺธา ปสนฺนา
มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส
เต กปฺปิยการกานํ หตฺเถ หิรญฺญสุวณฺณํ อุปนิกฺขิปนฺติ
เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า
อิมินา ยํ อยฺยสฺส กปฺปิยํ ตํ เทถาติ ฯ
สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้
……………………………
อนุชานามิ ภิกฺขเว ยํ ตโต กปฺปิยํ ตํ สาทิตุํ
น เตฺววาหํ ภิกฺขเว เกนจิ ปริยาเยน
ชาตรูปรชตํ สาทิตพฺพํ ปริเยสิตพฺพนฺติ วทามีติ ฯ
……………………………
อนุชานามิ ภิกฺขเว ยํ ตโต กปฺปิยํ ตํ สาทิตุํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้
น เตฺววาหํ ภิกฺขเว เกนจิ ปริยาเยน
ชาตรูปรชตํ สาทิตพฺพํ ปริเยสิตพฺพนฺติ วทามีติ ฯ
แต่เรามิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ เลย
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๘๕
………………….
ตอนหน้า – วิธีทำปวารณาบัตร
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑๔:๐๑