ศาลาอเนกประสงค์ (บาลีวันละคำ 1,903)
ศาลาอเนกประสงค์
สมควรแก่เวลาที่จะเลิกเขียนผิด
อ่านว่า สา-ลา-อะ-เหฺนก-ปฺระ-สง
แยกคำเป็น ศาลา + อเนก + ประสงค์
(๑) “ศาลา”
เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”
“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”
(๒) “อเนก”
บาลีอ่านว่า อะ-เน-กะ ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + เอก (เอ-กะ, “หนึ่ง” = จำนวน 1)
ตามกฎไวยากรณ์บาลี ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)
เอก ขึ้นต้นด้วยสระ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อน”
: น > อน + เอก = อเนก
ทำไมจึงไม่เขียนเป็น “เอนก” ?
“อน” (อะ-นะ) แยกเป็น 2 พยางค์ คือ “อ” กับ “น”
สระ เอ ที่ เ–ก (เอก) ควบได้แค่พยางค์หลัง คือ “-น” แต่ไม่ควบมาถึงพยางค์หน้า คือ “อ-” จึงเท่ากับ –น + เ–ก = เนก
อน + เอก จึงต้องเขียน “อเนก” (สระ เอ ควบได้แค่ –น) ไม่ใช่ “เอนก” (สระ เอ ควบ อน)
“อเนก” ตามศัพท์ไม่ได้แปลว่า มาก, หลาย แต่แปลว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” (not one)
“ไม่ใช่หนึ่ง” ก็คือมากกว่าหนึ่ง
“มากกว่าหนึ่ง” ย่อมส่อนัยว่ามีจำนวนมาก
ดังนั้น “อเนก” จึงมีความหมายว่า มาก, ต่างๆ กัน, นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (many, various, countless, numberless)
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อเนก, อเนก– : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย, เช่น อเนกประการ. (ป., ส.).”
(๓) “ประสงค์”
บาลีเป็น “ปสงฺค” อ่านว่า ปะ-สัง-คะ รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า) + สนฺชฺ (ธาตุ = ติดแน่น, เกี่ยวข้อง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง นฺ ที่ (ส)-นฺ-(ชฺ) เป็นนิคหิตแล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (สนฺชฺ > สํชฺ > สงฺช), แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ค
: ป + สนฺชฺ = ปสนฺช + ณ = ปสนฺชณ > ปสนฺช > ปสํช > ปสงฺช > ปสงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การติดแน่น” ใช้ในความหมายว่า –
(1) การเกาะติด, การโน้มเอียง, การติดพันอยู่ (hanging on, inclination, attachment to)
(2) โอกาส, เหตุการณ์ (occasion, event)
“ปสงฺค” สันสกฤตเป็น “ปฺรสงฺค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรสงฺค : (คำนาม) ‘ประสังคะ, ประสงค์,’ อามุข, นิธาน; สมาคม; สังโยค; ความติดหรือติดพันธ์; สังยุกตภาษาหรือประการ; สังยุกตวิจารหรือเหตุ; ทวิผล, การทำหรือให้ผลสองอย่าง; การบันลุถึงความประสงค์สองอย่างด้วยการย์อันหนึ่ง; การขยายหรือไขความลับ; (คำใช้ในนาฏกียภาษา) ทวิตียประสงค์; introduction, insertion; association, connection; addiction or attachment; connected language or style; connected reasoning or argument; double result, producing two effects, attaining two objects by one act; revealing a secret; (In dramatic language) a second incident.”
ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประสงค์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“ประสงค์ : (คำกริยา) ต้องการ, อยากได้; มุ่งหมาย, มุ่ง. (ส. ปฺรสงฺค).”
การประสมคำ :
๑ อเนก + ประสงค์ = อเนกประสงค์
ตามหลักภาษา คำนี้ควรอ่านว่า อะ-เหฺนก-กะ-ปฺระ-สง แต่พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านตามความนิยมว่า อะ-เหฺนก-ปฺระ-สง
“อเนกประสงค์” พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แล้วแต่ความต้องการ”
๒ ศาลา + อเนกประสงค์ = ศาลาอเนกประสงค์ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง คือ “ศาลาที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แล้วแต่ความต้องการ”
…………..
เพิ่มเติม :
คำว่า “อเนกประสงค์” ใช้ขยายความได้ทั่วไปแล้วแต่จะต้องการกล่าวถึงสิ่งไร เช่น –
ลานอเนกประสงค์ = สถานที่กว้างโล่งสำหรับจัดกิจกรรมหรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้หลายอย่าง
รถอเนกประสงค์ = รถคันเดียวใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นยานพาหนะ
เขื่อนอเนกประสงค์ = เขื่อนที่อำนวยประโยชน์หลายอย่าง เช่น เก็บกักน้ำ ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ในบรรดาคำที่ “อเนกประสงค์” ไปขยายนั้น “ศาลาอเนกประสงค์” ดูจะคุ้นตามากกว่าคำอื่น
“ศาลาอเนกประสงค์” – ถูก
“ศาลาเอนกประสงค์” – ผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ศาลาหลังน้อยๆ เป็นที่ทำกุศลได้ตั้งร้อยพันชนิด
: ชีวิตน้อยๆ หนึ่งชีวิต ดังฤๅจะคิดทำดีแค่อย่างเดียว
25-8-60