บัณฑิตเสวนา (บาลีวันละคำ 3,280)
คบบัณฑิต
คำในพระสูตร: ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (ปัน-ดิ-ตา-นัน-จะ เส-วะ-นา)
“บัณฑิตเสวนา” อ่านว่า บัน-ดิด-ตะ-เส-วะ-นา แยกศัพท์เป็น บัณฑิต + เสวนา
(๑) “บัณฑิต”
บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)
: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”
(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ (ปํฑิ > ปณฺฑิ)
: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด”
(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + ต)
: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”
ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.
“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”
ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย
สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัณฑิต”
แต่เดิมเราคงอ่าน “บัณฑิต” ว่า บัน-ทิด (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ท ทหาร) ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป เหลือแต่ “ทิด”
คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ เช่น ทิดย้อย เป็นต้น
ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายของคำบาลีทรามลงอย่างน่าเสียดาย
(๒) “เสวนา”
อ่านว่า เส-วะ-นา รากศัพท์มาจาก เสวฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ถ้าลง อา ปัจจัยอีก ก็เป็นอิตถีลิงค์
: เสวฺ + ยุ > อน = เสวน (เส-วะ-นะ, เป็นนปุงสกลิงค์= คำไม่แสดงเพศ)
: เสวน + อา = เสวนา (เส-วะ-นา, เป็นอิตถีลิงค์ = คำเพศหญิง)
“เสวน” หรือ “เสวนา” แปลทับศัพท์ว่า “การเสพ” หมายถึง การติดตาม, การคบหาสมาคม; การอยู่ร่วมกัน (following, associating with; cohabiting)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสวนะ, เสวนา : (คำกริยา) คบ เช่น ควรเสวนากับบัณฑิต ไม่ควรเสวนากับคนพาล, (ภาษาปาก) พูดจากัน เช่น หมู่นี้พวกเราไม่ค่อยได้พบปะเสวนากันเลย. (คำนาม) การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น กลุ่มวรรณกรรมจัดเสวนาเรื่องสุนทรภู่. (ป.).”
ในภาษาไทย แม้พจนานุกรมจะบอกไว้ว่า เสวนะ เสวนา หมายถึง “คบ” (คือคบหาสมาคมกัน) แต่เวลานี้มักเข้าใจกันว่า เสวนา หมายถึง “พูดจากัน” ซึ่งความหมายนี้พจนานุกรมก็บอกไว้ชัดๆ ว่าเป็นภาษาปาก หรือที่เรามักเรียกเป็นคำฝรั่งว่า “สแลง”
อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมก็บอกต่อมาอีกว่า เสวนะ เสวนา ยังหมายถึง “การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน” อีกด้วย
อาจเป็นเพราะคำนิยามนี้กระมัง คนส่วนมากจึงพากันเข้าใจว่า “เสวนา” มีความหมายอย่างเดียวกับ “สนทนา” และไม่ได้นึกถึงความหมายในภาษาเดิมที่ว่า เสวนา คือ “คบหาสมาคม” จนกระทั่งมีการเข้าใจกันว่า เสวนา คือ “คุยกัน” และ “ไม่เกี่ยวกับการคบหาสมาคม”
จึงขอย้ำว่า “เสวน” หรือ “เสวนา” ในบาลี และโดยเฉพาะในมงคลข้อ 2 แห่งมงคล 38 ประการนี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงการพูดคุย หากแต่หมายถึง การติดตาม, การคบหาสมาคม; การอยู่ร่วมกัน (following, associating with; cohabiting)
ปณฺฑิต + เสวนา = ปณฺฑิตเสวนา (ปัน-ดิ-ตะ-เส-วะ-นา) แปลว่า “การคบบัณฑิต”
“ปณฺฑิตเสวนา” เขียนแบบไทยเป็น “บัณฑิตเสวนา” อ่านว่า บัน-ดิด-ตะ-เส-วะ-นา
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 2 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” (ปัน-ดิ-ตา-นัน-จะ เส-วะ-นา) แปลตามศัพท์ว่า “การคบซึ่งบัณฑิตทั้งหลาย”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
2. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (คบบัณฑิต — Paṇḍitasevanā: to associate with the wise)
…………..
“บัณฑิตเสวนา = การคบบัณฑิต” เป็นมงคลที่ตรงกันข้ามกับ “พาลอเสวนา = การไม่คบคนพาล” ท่านแสดงการไม่คบคนพาลก่อน แล้วจึงแสดงการคบบัณฑิตทีหลัง อุปมาเหมือนคนชี้ทางบอกไม่ให้ไปทางผิดก่อนแล้วจึงบอกให้ไปทางถูกทีหลัง
อีกนัยหนึ่ง เหมือนมีทางสองแพร่ง คือทางซ้ายกับทางขวา คนชี้ทางบอกว่าอย่าไปทางซ้าย ก็เท่ากับบอกว่าจงไปทางขวานั่นเอง แต่ยกทางที่ไม่ควรไปขึ้นมาบอกก่อนเพื่อสกัดไม่ให้เผลอพลาดไปในทางผิด ข้อนี้เทียบได้กับหลักคำสอนในโอวาทปาติโมกข์ ที่ท่านยก “สพฺพปาปสฺส อกรณํ = การไม่ทำบาปทุกอย่าง” ขึ้นแสดงก่อน แล้วจึงยก “กุสลสฺสูปสมฺปทา = การทำกุศลให้พร้อมมูล” ขึ้นแสดงในลำดับต่อมา
ในคัมภีร์ท่านแสดงคุณลักษณะของ “บัณฑิตเสวนา” ไว้ดังนี้ –
…………..
ตครมาลาทิคนฺธภณฺฑสทิสา ปณฺฑิตา ตครมาลาทิคนฺธภณฺฑปลิเวฐนปตฺตสทิโส ตํเสวโก วิญฺญูนํ ภาวนียตํ มนุญฺญตญฺจ ปตฺโต.
บัณฑิตเป็นเช่นกับของหอมมีกฤษณาและมาลาเป็นต้น ผู้คบบัณฑิตจึงเป็นเหมือนใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาและมาลาเป็นต้น ประลุถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญและเป็นที่เจริญใจของวิญญูชนทั้งหลาย
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 20 หน้า 16
…………..
คัมภีร์มังคลัตถทีปนีสรุปไว้ว่า –
…………..
ปณฺฑิตเสวนา … นิพฺพานสุคติเหตุตฺตา มงฺคลนฺติ วุตฺตํ.
การคบบัณฑิตชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุ (อย่างสูงสุด) คือบรรลุพระนิพพาน และ (อย่างต่ำสุด) คือเข้าถึงสุคติภพ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หาบัณฑิตให้พบ ยาก
: คบบัณฑิตให้เห็น ยากมาก
: เป็นบัณฑิตให้ได้ ยากที่สุด
#บาลีวันละคำ (3,280) (ชุดมงคล 38)
5-6-64