อัตสัมมาปณิธิ (บาลีวันละคำ 3,284)
อัตสัมมาปณิธิ
ตั้งตนไว้ถูกต้อง
คำในพระสูตร: อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (อัด-ตะ-สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ จะ)
“อัตสัมมาปณิธิ” อ่านว่า อัด-ตะ-สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ
แยกศัพท์เป็น อัต + สัมมา + ปณิธิ
(๑) “อัต”
บาลีเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (อตฺต เป็นรูปคำเดิม อตฺตา เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติ)
“อตฺตา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
“อตฺตา” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
ในทางปรัชญา “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego
อตฺตา ในภาษาไทยเขียนเป็น “อัตตา” ในที่นี้ใช้เป็น “อัตต” และเพราะสมาสกับคำอื่นจึงตัด ต ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในคำไทย จึงเป็น “อัต-”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัต– : (คำนาม) ตน, ตัวเอง. (ป. อตฺต; ส. อาตฺมนฺ).”
(๒) “สัมมา”
เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺมา” อ่านว่า สำ-มา
(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)
“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”
หมายเหตุ :
“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)
“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน
——-
“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)
(๓) “ปณิธิ”
บาลีอ่านว่า ปะ-นิ-ทิ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ฐา (ธาตุ = ตั้งไว้), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ) + อิ ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ, ฐ เป็น ธ,
: ป + นิ + ฐา = ปนิฐา > ปนิฐ + อิ = ปนิฐิ > ปณิฐิ > ปณิธิ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ตั้งไว้”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปณิธิ” ว่า การตั้งไว้, ความปรารถนา, ความอ้อนวอน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณิธิ” ว่า aspiration, request, prayer, resolve (ปณิธาน, การขอร้อง, การอธิษฐานหรือสวดขอ, ความตกลงใจ)
บาลี “ปณิธิ” สันสกฤตเป็น “ปฺรณิธิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ปฺรณิธิ : (คำนาม) ‘ประณิธิ,’ จารบุรุษ, นักสืบ; การขอ, การเชิญ; ความระวัง, ความเอาใจใส่; อนุจร, ‘ลูกน้อง,’ ผู้ติดสอยห้อยตาม; a spy; asking, a request; care, attention; a follower.”
การประสมคำ :
(๑) สมฺมา + ปณิธิ = สมฺมาปณิธิ (สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ) แปลว่า “การตั้งไว้โดยชอบ” คือ ตั้งไว้อย่างถูกต้อง, ดำรงไว้อย่างถูกต้อง
(๒) อตฺต + สมฺมาปณิธิ = อตฺตสมฺมาปณิธิ (อัด-ตะ-สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ) แปลว่า “การตั้งไว้ซึ่งตนโดยชอบ” คือ การตั้งตนไว้อย่างถูกต้อง, ดำรงตนอยู่ในทางที่ถูกต้อง
“อตฺตสมฺมาปณิธิ” ทับศัพท์แบบไทยเป็น “อัตสัมมาปณิธิ” อ่านเท่าคำบาลี คือ อัด-ตะ-สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 6 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “อตฺตสมฺมาปณิธิ จ” (อัด-ตะ-สำ-มา-ปะ-นิ-ทิ จะ) แปลว่า “การตั้งตนไว้ชอบ” ไขความว่า การตั้งตนไว้อย่างถูกต้อง หรือการดำรงตนอยู่ในทางที่ถูกต้อง
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
6. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (ตั้งตนไว้ชอบ — Attasammāpaṇidhi: setting oneself in the right course; right direction in self-guidance; perfect self-adjustment)
…………..
ในอรรถกถาท่านขยายความ “อัตสัมมาปณิธิ = ตั้งตนไว้ชอบ” คือการตั้งตนไว้ถูกต้อง ไว้ดังนี้ –
…………..
อตฺตสมฺมาปณิธิ นาม อิเธกจฺโจ อตฺตานํ ทุสฺสีลํ สุสีเล ปติฏฺฐาเปติ อสฺสทฺธํ สทฺธาสมฺปทาย ปติฏฺฐาเปติ มจฺฉรึ จาคสมฺปทาย ปติฏฺฐาเปติ. อยํ วุจฺจติ อตฺตสมฺมาปณิธีติ เอโส จ มงฺคลํ. กสฺมา. ทิฏฺฐธมฺมิกสมฺปรายิกเวรปฺปหานวิวิธานิสํสาธิคมเหตุโต.
คนบางตนในโลกนี้ย่อมทำตนที่ทุศีลให้ตั้งอยู่ในศีลอันงาม ทำตนที่ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในศรัทธาที่เต็มเปี่ยม ทำตนที่ตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคะอันพร้อมมูล การตั้งตนดังกล่าวชื่อว่าตั้งตนไว้ชอบ. การตั้งตนไว้ชอบนี้เรียกว่าอัตสัมมาปณิธิ. อัตสัมมาปณิธินี้แลเป็นมงคล เพราะเหตุไร? เพราะเป็นเหตุละการจองเวรทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า และเป็นเหตุให้ประสบอานิสงส์ต่าง ๆ
ที่มา: ปรมัตถโชติกา ขุททกปาฐวัณณนา หน้า 178
…………..
ขยายความว่า เมื่อตั้งตนไว้ถูกต้อง คือมีศีล มีศรัทธา มีจาคะ ก็ไม่เป็นศัตรูกับใคร ไม่เป็นศัตรูกับใครก็ไม่มีเวรมีภัยกับใคร ไม่กระทบกระทั่งกับใคร ไม่มีปัญหากับใคร เท่ากับจัดสิ่งแวดล้อมภายนอกให้เอื้ออำนวย ชีวิตก็มีความสุขสงบรื่นรมย์ ที่ท่านเรียกว่า “วิวิธานิสํสาธิคม” ประสบอานิสงส์คือความดีงามต่าง ๆ เป็นฐานเป็นทุนให้ก้าวหน้าไปในคุณธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
มีทรัพย์ : ตั้งตัวได้
มีศีล : ตั้งตัวถูก
#บาลีวันละคำ (3,284) (ชุดมงคล 38)
9-6-64