บาลีวันละคำ

สังยุตนิกาย (บาลีวันละคำ 4,141)

สังยุตนิกาย

หมวดที่รวมพระสูตรอันประมวลไว้เป็นกลุ่ม

…………..

พระไตรปิฎกมี 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก 

พระสุตตันตปิฎกแบ่งเป็น 5 หมวด เรียกว่า “นิกาย” คือ –

(สะกดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)

(1) ทีฆนิกาย

(2) มัชฌิมนิกาย

(3) สังยุตนิกาย

(4) อังคุตรนิกาย

(5) ขุทกนิกาย

…………..

สังยุตนิกาย” อ่านว่า สัง-ยุด-ตะ-นิ-กาย

ประกอบด้วยคำว่า สังยุต + นิกาย

(๑) “สังยุต

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺยุตฺต” อ่านว่า สัง-ยุด-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ + ยุตฺต 

(ก) “สํ” อ่านว่า สัง เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ : สํ > สงฺ 

(ข) “ยุตฺต” รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ผูก, ประกอบ) + ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ คือ (ยุ)-ชฺ กับ เป็น ตฺต 

: ยุชฺ + = ยุชฺต > ยุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบแล้ว” หมายถึง เข้าคู่, เชื่อมโยงกัน (coupled; connected with)

สํ > สงฺ + ยุตฺต = สงฺยุตฺต (สัง-ยุด-ตะ) แปลว่า “ประกอบพร้อมแล้ว” = ประมวลเข้าด้วยกัน

สงฺยุตฺต” (สะกดเป็น “สํยุตฺต” ก็มี) ใช้ในความหมายว่า –

(1) ผูก, มัด, จำจอง (tied, bound, fettered) 

(2) เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกัน, ผสมกัน (connected with, mixed with) 

(๒) “นิกาย” 

บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ แสดงรากศัพท์ตามนัยแห่งหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ดังนี้ – 

(1) นิกาย ๑ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = เข้า, ลง) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, แปลง จิ เป็น กา 

: นิ + จิ = นิจิ + = นิจิย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขามุงบัง” หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่

(2) นิกาย ๒ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (จิ > เจ > จาย), แปลง เป็น

: นิ + จิ + = นิจิณ > นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง นิกาย, ฝูง, กลุ่ม, หมู่, คณะ, กอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิกาย” ว่า collection, assemblage, class, group (การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่) ไม่มีคำแปลที่หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่ ดังที่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แสดงความหมายของ นิกาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิกาย : (คำนาม) น. หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์; เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย. (ป., ส.).”

ขยายความแทรก :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิกาย” ไว้ดังนี้ –

…………..

นิกาย : พวก, หมวด, หมู่, ชุมนุม, กอง; 

1. หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งแยกเป็น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย; 

2. คณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ; ในพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นนิกายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ๒ นิกาย คือ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) พวกหนึ่ง และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ที่บางทีเรียก หีนยาน พวกหนึ่ง; 

ในประเทศไทยปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกัน แยกออกเป็น ๒ นิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในหมู่นักบวช) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต 

…………..

สงฺยุตฺต + นิกาย = สงฺยุตฺตนิกาย อ่านแบบบาลีว่า สัง-ยุด-ตะ-นิ-กา-ยะ ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังยุตนิกาย” (ตัด ตฺ ตัวสะกดออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า สัง-ยุด-ตะ-นิ-กาย 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังยุตนิกาย : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์นิกายที่ ๓ แห่งพระสุตตันตปิฎก แปลว่า หมวดประมวล คือ ประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันทั้งหมด.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สังยุตตนิกาย” ( 2 ตัว) บอกไว้ดังนี้ –

…………..

สังยุตตนิกาย : นิกายที่ ๓ แห่งพระสุตตันตปิฎก; ดู ไตรปิฎก (เล่ม ๑๕ – ๑๙)

…………..

ที่คำว่า “ไตรปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

…………..

ไตรปิฎก : “ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎก จึงแปลว่า “คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด” หรือ “ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด” กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และ อภิธรรมปิฎก 

… … …

…………..

ในส่วน “สุตตันตปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม

๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม

เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์

เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้นมีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด รวมทั้งเรื่องสมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์

เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์ (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตรเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)

…………..

แถม :

ชื่อสังยุตในสังยุตนิกาย มีดังนี้ –

ไตรปิฎกเล่ม 15: เทวตาสังยุต เทวปุตตสังยุต โกสลสังยุต มารสังยุต ภิกขุนีสังยุต พรหมสังยุต พรหมณสังยุต วังคีสสังยุต วนสังยุต ยักขสังยุต สักกสังยุต รวม 11 สังยุต

ไตรปิฎกเล่ม 16: นิทานสังยุต อภิสมยสังยุต ธาตุสังยุต อนมตัคคสังยุต กัสสปสังยุต ลาภสักการสังยุต ราหุลสังยุต ลักขณสังยุต โอปัมมสังยุต ภิกขุสังยุต รวม 10 สังยุต

ไตรปิฎกเล่ม 17: ขันธสังยุต ราธสังยุต ทิฏฐิสังยุต โอกกันตสังยุต อุปปาทสังยุต กิเลสสังยุต สารีปุตตสังยุต นาคสังยุต สุปัณณสังยุต คันธัพพกายสังยุต วลาหกสังยุต วัจฉโคตตสังยุต สมาธิสังยุต  รวม 13 สังยุต

ไตรปิฎกเล่ม 18: สฬายตนสังยุต เวทนาสังยุต มาตุคามสังยุต ชัมพุขาทกสังยุต สามัณฑกสังยุต โมคคัลลานสังยุต จิตตคหปติปุจฉาสังยุต คามณิสังยุต อสังขตสังยุต อัพยากตสังยุต รวม 10 สังยุต

ไตรปิฎกเล่ม 19: มัคคสังยุต โพชฌังคสังยุต สติปัฏฐานสังยุต อินทริยสังยุต สัมมัปปธานสังยุต พลสังยุต อิทธิปาทสังยุต อนุรุทธสังยุต ฌานสังยุต อานาปานสังยุต โสตาปัตติสังยุต สัจจสังยุต รวม 12 สังยุต

…………..

นี่คือเค้าโครงของ “สังยุตนิกาย” ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร

รายละเอียดต่างๆ ของพระสูตรใน “สังยุตนิกาย” พึงศึกษาจากพระไตรปิฎกเล่ม 15-16-17-18-19 นั้นเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รวมตัวกันได้ เป็นเรื่องสำคัญ

: รวมตัวกันทำอะไร สำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (4,141)

14-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *