บาลีวันละคำ

สุภาสิตวาจา (บาลีวันละคำ 3,289)

สุภาสิตวาจา 

วาจาสุภาษิต

คำในพระสูตร: สุภาสิตา ยา วาจา (สุ-พา-สิ-ตา จะ ยา วา-จา) 

สุภาสิตวาจา” อ่านว่า สุ-พา-สิ-ตะ-วา-จา

แยกศัพท์เป็น สุภาสิต + วาจา 

(๑) “สุภาสิต

อ่านว่า สุ-พา-สิ-ตะ ประกอบด้วย สุ + ภาสิต 

(ก) “สุ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(ข) “ภาสิต” 

อ่านว่า พา-สิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ภาสฺ (ธาตุ = พูด) + อิ อาคมท้ายธาตุ + ปัจจัย

: ภาสฺ + อิ + = ภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “คำที่พึงพูด

ภาสิต” ตามรูปศัพท์เป็นคำกริยาอดีตกาล (past participle) กรรมวาจก แปลว่า “(คำ อันเขา) กล่าวแล้ว” หมายถึง คำหรือเรื่องราวที่ถูกกล่าว, พูด, เอ่ย (spoken, said, uttered)

แต่ “ภาสิต” สามารถใช้เป็นคำนามก็ได้ด้วย แปลว่า คำพูด, ถ้อยคำ (speech, word)

สุ + ภาสิต = สุภาสิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวแล้วดี” หมายถึง พูดดี (well spoken) หรือคำกล่าวที่ดี (good words)

บาลี “สุภาสิต” ตรงกับที่ไทยเราใช้ตามสันสกฤตเป็น “สุภาษิต” (บาลี –สิต เสือ, สันสกฤต –ษิต, ฤๅษี)

ในที่นี้สะกดเป็น “สุภาสิต” ตามบาลี ไม่ใช่ “สุภาษิต” ตามสันสกฤต

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุภาษิต : (คำนาม) ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ. (ส.; ป. สุภาสิต ว่า ถ้อยคําที่กล่าวดีแล้ว).”

…………..

อย่างไรจึงเรียกว่า “สุภาสิต” :

พึงทราบว่า “สุภาสิต” ในบาลี และโดยเฉพาะในคำนี้ ไม่ได้หมายถึง “ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายเป็นคติสอนใจ” เหมือน “สุภาษิต” ในภาษาไทย

สุภาสิต” ในบาลีหมายถึง คำพูดที่พูดถูกต้อง พูดดี มีคุณประโยชน์แก่ผู้ฟัง คำพูดที่มีลักษณะเช่นว่านี้แม้พูดขึ้นเดี๋ยวนี้เองก็เรียกว่า “สุภาสิต” 

องค์ประกอบของคำพูดที่จะเรียกได้ว่าเป็น “สุภาสิต” ตามมาตรฐานของพระพุทธศาสนามี 5 ประการ คือ –

(1) กาเลน  จ  ภาสิตา  โหติ = พูดถูกกาลเทศะ

(2) สจฺจา  จ  ภาสิตา  โหติ = พูดเรื่องจริง 

(3) สณฺหา  จ  ภาสิตา  โหติ = พูดสุภาพเรียบร้อย

(4) อตฺถสญฺหิตา  จ  ภาสิตา  โหติ = พูดเรื่องมีสาระประโยชน์

(5) เมตฺตจิตฺเตน  จ  ภาสิตา  โหติ = พูดด้วยน้ำใจแห่งมิตร 

(๒) “วาจา

รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วจฺ + = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วาจา : (คำนาม) ถ้อยคํา, คํากล่าว, คําพูด, เช่น วาจาสุภาพ วาจาอ่อนหวาน วาจาสัตย์. (ป., ส.).”

สุภาสิต + วาจา = สุภาสิตวาจา (สุ-พา-สิ-ตะ-วา-จา) แปลว่า “วาจาอันกล่าวดีแล้ว” 

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 10 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “สุภาสิตา ยา วาจา” (สุ-พา-สิ-ตา จะ ยา วา-จา) แปลว่า “วาจาที่เป็นสุภาษิตประการหนึ่ง” ไขความว่า รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

10. สุภาสิตา ยา วาจา (วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี — Subhāsitavācā: well-spoken speech)

…………..

ในคัมภีร์ท่านขยายความ “สุภาสิตวาจา = วาจาสุภาษิต” ไว้ดังนี้ –

…………..

สา  หิ  ยถา  ปฏิรูปเทสวาโส  เอวํ  สตฺตานํ  อุภยโลกหิตสุขนิพฺพานาธิคมปจฺจยโต  มงฺคลนฺติ  วุจฺจติ. 

สุภาสิตวาจานั้นแลพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งประโยชนสุขในโลกทั้งสองคือโลกนี้และโลกหน้า และเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุพระนิพพานของคนทั้งหลาย เช่นเดียวกับมงคลข้อปฏิรูปเทส 

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 287 หน้า 263

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดดีไม่ได้

: ไม่พูดดีกว่า

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,289) (ชุดมงคล 38)

14-6-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *