บาลีวันละคำ

สุสิกขิตวินัย (บาลีวันละคำ 3,288)

สุสิกขิตวินัย 

มีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว

คำในพระสูตร: “วินโย สุสิกฺขิโต” (วิ-นะ-โย จะ สุ-สิก-ขิ-โต) 

สุสิกขิตวินัย” อ่านว่า สุ-สิก-ขิ-ตะ-วิ-ไน

สุสิกขิตวินัย” เขียนแบบบาลีเป็น “สุสิกฺขิตวินย” อ่านว่า สุ-สิก-ขิ-ตะ-วิ-นะ-ยะ

แยกศัพท์เป็น สุสิกฺขิต + วินย 

(๑) “สุสิกฺขิต

อ่านว่า สุ-สิก-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียน, ฝึกฝน) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมหลังธาตุ หน้าปัจจัย (สิกฺขฺ + อิ + )

: สุ + สิกฺข = สุสิกฺข + อิ + = สุสิกฺขิต แปลตามศัพท์ว่า “ศึกษาดีแล้ว” 

สุสิกฺขิต” เป็นคำกริยาและใช้เป็นคำวิเศษณ์ได้ด้วย ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียนได้ดี, ศึกษาได้ทั่วถึง (well learnt, thoroughly acquired) 

(2) ฝึกฝนได้ง่าย, สอนได้ง่าย (easily trained, docile)

(๒) “วินย” 

อ่านว่า วิ-นะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + (อะ) ปัจจัย แผลง อี (ที่ นี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย

: วิ + นี = วินี > (อี เป็น เอ =) วิเน > (เอ เป็น อย =) วินย + = วินย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อุบายเป็นเครื่องนำไป” หรือ “การนำไปอย่างวิเศษ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

วินย” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)

(2) กฎ, วิธีพูดหรือตัดสิน, ความหมาย, วาทวิทยา (วิชาการใช้ถ้อยคำ) (rule, way of saying or judging, sense, terminology)

(3) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)

(4) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)

วินย” ภาษาไทยใช้ว่า “วินัย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”

สุสิกฺขิต + วินย = สุสิกฺขิตวินย (สุ-สิก-ขิ-ตะ-วิ-นะ-ยะ) แปลว่า “วินัยอันตนศึกษาฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดี” หรือ “ผู้มีวินัยอันศึกษาฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดี” 

สุสิกฺขิตวินย” เขียนแบบไทยเป็น “สุสิกขิตวินัย” (สุ-สิก-ขิ-ตะ-วิ-ไน)

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 9 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “วินโย สุสิกฺขิโต” (วิ-นะ-โย จะ สุ-สิก-ขิ-โต) แปลว่า “วินัยที่ได้ศึกษาดีแล้วประการหนึ่ง” ไขความว่า มีระเบียบวินัยดี, ฝึกอบรมตนไว้ดี

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

9. วินโย สุสิกฺขิโต (มีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว, มีระเบียบวินัยดี, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี — Vinaya: highly trained discipline)

…………..

ในคัมภีร์ท่านขยายความ “สุสิกฺขิตวินย = มีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว” ไว้ดังนี้ –

…………..

โส อสงฺกิเลสาปชฺชเนน  อาจารคุณววตฺถาปเนน  จ  สุสิกฺขิโต  อุภยโลกหิตสุขาวหนโต  มงฺคลํ. 

วินัยนั้นอันฝึกฝนดีแล้ว เพราะไม่ต้องโทษเครื่องเคร้าหมองและเพราะทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณคือความประพฤติเรียบร้อย ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสองคือทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 147 หน้า 169

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วินัยสำหรับคน มีไว้เพื่อปฏิบัติ

: วินัยสำหรับสัตว์ มีไว้เพื่อละเมิด

: แต่สัตว์ที่ฝึกมาแล้วอย่างดีเลิศก็ยังรู้จักปฏิบัติตามวินัย

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,288) (ชุดมงคล 38)

13-6-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *