บาลีวันละคำ

พุทธนวัตกรรม (บาลีวันละคำ 3,287)

คือทำอะไร ใครรู้บ้าง

อ่านว่า พุด-ทะ-นะ-วัด-ตะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + นวัตกรรม

(๑) “พุทธ

เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า” แต่ในที่นี้ “พุทธ” หมายถึงทุกองค์ประกอบที่รวมกันเป็นพระพุทธศาสนา

(๒) “นวัตกรรม” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

นวัตกรรม : (คำนาม) สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวต + ส. กรฺม; อ. innovation).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

นวัตกรรม : (คำนาม) การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวตา + ส. กรฺม; อ. innovation).”

ดูที่มาของคำ พจน.42 บอกว่ามาจากบาลี นวต + สันสกฤต กรฺม 

แต่ พจน.54 บอกว่ามาจากบาลี นวตา + สันสกฤต กรฺม

พจน.42 บอกว่า คำนี้มาจาก นวต (คำบาลี) + กรฺม (คำสันสกฤต)

ตรวจดูในพจนานุกรมบาลี ไม่พบศัพท์ “นวต” 

สืบค้นในคัมภีร์ก็ยังไม่พบศัพท์ว่า “นวต” เช่นเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “นวต” บอกไว้ดังนี้ –

นวต : (คำนาม) หัสดินาทานอันระบายสี, เครื่องช้างอันระบายสี; an elephant’s painted housings.”

เห็นได้ว่าเป็นคนละคำกัน

ดูความหมายตามพจนานุกรมฯ ที่ว่า “สิ่งที่ทำขึ้นใหม่” ชวนคิดถึงศัพท์บาลีว่า “นวกมฺม” (นะ-วะ-กำ-มะ)

นวกมฺม” ประกอบด้วย นว (ใหม่) + กมฺม (การกระทำ) = นวกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การทำขึ้นใหม่” หมายถึง การสร้างใหม่, การซ่อมแซม, การบูรณะ, การซ่อมแต่ง (building new, making repairs, doing up, mending)

นวกมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “นวกรรม” (นะ-วะ-กำ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายว่า “การก่อสร้าง” 

ผู้เขียนบาลีวันละคำจำได้ว่า เมื่อคำ “นวัตกรรม” ปรากฏขึ้นใหม่ๆ มีผู้วิจารณ์ในเชิงสงสัยว่า ทำไมจึงไม่ใช้ “นวกรรม” และ “นวัตกรรม” มาจากคำอะไร

เรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ คนส่วนมาก (รวมทั้งผู้เขียนบาลีวันละคำด้วย) ไม่มีโอกาสได้ทราบว่า ศัพท์บัญญัติแต่ละคำท่านผู้บัญญัตินำคำนั้นๆ มาจากไหน และมีเหตุผลอย่างไรจึงใช้รูปคำเช่นนั้นๆ

……..

ต่อไปนี้เป็นการเดาสืบตามแนวที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “นวัตกรรม” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า innovation

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล innovation ว่า เปลี่ยนแปลงใหม่

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล innovation เป็นบาลีว่า –

(1) navattapāpaṇa นวตฺตปาปณ (นะ-วัด-ตะ-ปา-ปะ-นะ) = ทำให้ประลุถึงความแปลกใหม่

(2) navācāra นวาจาร (นะ-วา-จา-ระ) = ดำเนินไปในแนวทางใหม่

เฉพาะคำ “นวตฺตปาปณ” มาจาก นวตฺต (ความใหม่) + ปาปณ (การทำให้ถึง)

นวตฺต” มาจาก นว (ใหม่) + ตฺต (อ่านว่า ตะ-ตะ) ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แปลว่า “ความเป็น-” 

: นว + ตฺต = นวตฺต (นะ-วัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสิ่งใหม่” หรือ “ความแปลกใหม่

: นวตฺต + ปาปณ = นวตฺตปาปณ แปลว่า “การทำให้ถึงความใหม่

ถ้าเอา นวตฺต + กมฺม = นวตฺตกมฺม เขียนแบบไทยเป็น “นวัตตกรรม” 

นวัตต” ตัดตัวซ้อนออกเสียตัวหนึ่งตามหลักนิยมของภาษาไทย : นวตฺต > นวัตต > นวัต > นวต 

นี่กระมังคือที่ พจน.42 บอกว่า “นวัตกรรม” มาจากบาลี นวต + กรฺม สันสกฤต

อาศัยแนวเทียบนี้ ที่ พจน.54 บอกว่า “นวัตกรรม” มาจากบาลี นวตา + กรฺม สันสกฤต ก็เข้าใจง่ายขึ้น “นวตา” ก็คือ นว + ตา ปัจจัย เป็นปัจจัยในภาวตัทธิตเช่นเดียวกัน แปลว่า “ความเป็น-” 

: นว + ตา = นวตา (นะ-วะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสิ่งใหม่” หรือ “ความแปลกใหม่

นวตา + กรฺม รัสสะ อา ที่ ตา เป็น อะ (ตา >

: นวตา + กรฺม = นวตากรฺม > นวตกรฺม > นวัตกรรม แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้เป็นความใหม่

……..

ถ้าการเดาสืบนี้ถูกต้อง ขอมอบเป็นอาจริยบูชาแด่ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชาภาษาบาลีให้แก่ผู้เขียน

แต่ถ้าเป็นการเดาผิด ย่อมเป็นความโง่เขลาเบาปัญญาของผู้เขียนโดยส่วนเดียว

คำว่า “นวัตกรรม” คนจำพวกหนึ่งชอบพูดว่า “นวัตกรรมใหม่” หรือ “นวัตกรรมใหม่ๆ

ความจริง “นวัตกรรม” ก็หมายถึงการทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว “นวัตกรรมใหม่” จึงเป็นการใช้คำซ้ำความหมายอีกคำหนึ่งในภาษาไทย

……..

พุทธ + นวัตกรรม = พุทธนวัตกรรม (พุด-ทะ-นะ-วัด-ตะ-กำ) แปลว่า “การทำให้แปลกใหม่เกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา” หรือ การใช้พระพุทธศาสนาทำให้เกิดความแปลกใหม่ขึ้น หรือแปลกึ่งทับศัพท์ว่า “นวัตกรรมเชิงพุทธ” 

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “พุทธนวัตกรรม” พอจะบอกที่มาของรูปศัพท์ได้ แต่คำแปลหรือความหมายตามที่แสดงไว้นั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องตรงกับเจตนารมณ์ของผู้คิดคำนี้ขึ้นมาหรือไม่ ทั้งยังไม่ได้เห็นคำอธิบายความหมายหรือคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า “พุทธนวัตกรรม” หมายถึงอะไร 

คำอังกฤษที่ใช้กำกับไว้ว่า Buddhist Innovation ก็ไม่ช่วยให้เข้าใจความหมายได้มากขึ้น เข้าใจว่าคงคิดคำว่า “พุทธนวัตกรรม” ขึ้นก่อน แล้วจึงแปลเป็นคำอังกฤษทีหลัง แม้จะแปลได้ว่า “นวัตกรรมเชิงพุทธ” ก็ยังต้องถามต่อไปอีกว่า นวัตกรรมเชิงพุทธคืออะไร คือทำอะไร

ถ้าจะตีความแบบคาดเดา ก็อาจจะเดาความหมายของ “พุทธนวัตกรรม” ได้ 2 นัย กล่าวคือ

นัยหนึ่ง “พุทธนวัตกรรม” หมายถึง นำเอาพระพุทธศาสนาไปสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นตามที่เห็นว่าดีงาม แต่ตัวพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เหมือนเดิม

อีกนัยหนึ่ง “พุทธนวัตกรรม” หมายถึงเอาพระพุทธศาสนามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีรูปแบบใหม่ๆ มีคำสอนใหม่ๆ ตามที่เห็นว่าจะทันสมัยขึ้น เพื่อให้เข้ากับโลกยุคใหม่ เพื่อให้อยู่กับสังคมสมัยใหม่ได้ แบบนี้คือทำให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แต่ตัวพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม

พุทธนวัตกรรม” มีความหมายตามนัยไหนใน 2 นัยนี้ หรือไม่ได้มีความหมายตามนัยทั้ง 2 ที่กล่าวมานี้ แต่มีความหมายเป็นอย่างอื่น ท่านผู้ใดมีคำอธิบายที่ถูกต้องชัดเจน ขอได้โปรดนำมาแสดงเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงทำให้เขาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา

: แต่อย่าทำพระพุทธศาสนาเพื่อให้เขาเลื่อมใส

————–

ได้คำมาจากการสนทนาธรรมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

#บาลีวันละคำ (3,287)

12-6-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *