ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)
ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี (๑)
————————–
พระคุณเจ้ารูปหนึ่ง อายุ ๔๐ กว่า บอกเล่าและขอคำแนะนำว่า ท่านรักเรียนบาลี แต่สมองไม่ดี ท่องจำไม่เก่ง จะทำอย่างไรดี ช่วยแนะนำหน่อย
ผมก็แนะนำไปเท่าที่พอจะมีสติปัญญา แต่คงจะแก้ปัญหาไม่ได้หมด หรือแก้ไม่ได้มาก หรืออาจแก้ไม่ได้เลย ถ้าเปรียบกับเป็นโรคก็คงจะทำได้แค่ทายาพอประทังอาการ แต่รักษาไม่หาย
ผมมานึกดูว่า ปัญหาทำนองนี้ หรือถ้าจะคิดให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็น่าเรียกว่า “ปัญหาเรื่องการเรียนบาลี” นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าคิดคำนึงว่า เราจะแก้ไขกันอย่างไรดี
ผมจะลองประมวลมาเท่าที่นึกได้
…………………..
๑ ปัญหาส่วนตัวของนักเรียน เช่นสติปัญญาไม่ดี ท่องไม่เก่ง จำไม่ค่อยได้ จะช่วยได้อย่างไร
เรื่องท่องไม่เก่งนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเอาไปผูกเข้ากับทฤษฎีการเรียนสมัยใหม่ที่บอกว่า การท่องจำไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ถึงกับมีการดูถูกดูแคลนการเรียนบาลีหรือการเรียนทางธรรมที่นิยมสอนให้ท่องจำว่า-เป็นพวกนกแก้วนกขุนทอง ดีแต่สอนให้ท่องจำ แต่คิดอะไรเองไม่เป็น
นักเรียนบาลีล้วนถูกบังคับให้ท่องจำมาแล้วทุกคน อย่างน้อยก็ท่องแบบแจก สิ โย อํ โย ปุริโส ปุริสา ซึ่ง สู่ ยัง สิ้น ด้วย โดย อัน ตาม เพราะ มี …
สมัยผมเรียน (๒๕๐๖) เริ่มด้วยท่องบาลีไวยากรณ์ชุดที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง อาศัยครูบาอาจารย์และรุ่นพี่แนะนำว่า ตรงนี้ท่อง ตรงนี้ไม่ต้องท่อง เรียกกันว่า “ท่องหลัก” รวมข้อความที่ต้องท่องแล้วมีปริมาณมากมาย
เมื่อท่องหลักได้แล้ว ฟังคำอธิบายประกอบจากครูบาอาจารย์ ก็เข้าใจ เป็นหลักความรู้ที่ตกผลึกติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เป็นภาระในการจำอีกต่อไป แต่ไม่ลืม
ตกมาถึงสมัยนี้เกิดมีตำราคู่มือสำหรับท่องจำโดยเฉพาะ โดยอาจารย์สำนักต่างๆ ผลิตขึ้น ไม่ใช่คณะสงฆ์ที่รับผิดชอบเรื่องการเรียนบาลีเป็นผู้ผลิต ตรงนี้คือข้อที่น่าคิดคำนึง
คณะสงฆ์ที่รับผิดชอบเรื่องการเรียนบาลีไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่มีสติปัญญาไม่ดี แต่มีใจรักที่จะเรียนบาลี แต่กลายเป็นว่าอาจารย์สำนักนั่นบ้างสำนักโน้นบ้างสร้างตำราคู่มือขึ้นมาช่วย นักเรียนบาลีก็ต้องขวนขวายช่วยตัวเองกันไปแบบตัวใครตัวมัน
ปัญหานี้ ถ้าคณะสงฆ์หาวิธีช่วยเหลือเสียเองก็จะเป็นการดีนักหนา เช่นผลิตตำราที่มีมาตรฐานของคณะสงฆ์ออกมาช่วย กำหนดมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เช่นบริการแนะแนว บริการให้คำปรึกษา ตั้งหน่วยงานขึ้น นักเรียนบาลีรู้ได้เลยว่าถ้ามีปัญหาแบบนี้จะไปขอคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือจากคณะสงฆ์ได้ที่ไหน แทนที่จะมะงุมมะงาหรางมหาทางแก้ปัญหาเอาเองอย่างที่กำลังเป็นอยู่
…………………..
กลับมาที่ปัญหาการเรียนบาลีโดยวิธีท่องจำ
ถ้าไม่ใช้วิธีท่องจำ เราจะมีวิธีเรียนแบบไหน ที่เรียนทะลุตั้งแต่ประโยค ๑-๒ จนถึง ป.ธ.๙ โดยไม่ต้องท่องจำเลยแม้แต่ตัวเดียว
ผมว่าจะต้องจับเข่าคุยกันให้เคลียร์ว่า “ท่องจำ” หมายความแค่ไหนอย่างไร
“ท่องจำ” ตามหลักที่นักเรียนบาลีใช้กันอยู่ คือ ท่องเฉพาะหลัก หรือสูตร หรือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ไม่ใช่ตั้งแต่ประโยค ๑-๒ จนถึง ป.ธ.๙ ท่องเอาทุกสิ่งทุกอย่างแบบไม่ต้องคิดอะไรเองเลย แบบที่นักการศึกษาสมัยใหม่อาจจะกำลังเข้าใจผิดๆ
นักเรียนบาลียังจะต้องท่องจำกันอยู่ หรือว่าเลิกระบบท่องจำได้แล้ว ใช้ระบบใหม่ได้แล้ว
ระบบใหม่คือระบบไหน แบบไหน ถ้าใครคิดระบบใหม่ได้แล้วก็นำเสนอสู่สายตาโลกมาเลย นักเรียนบาลีจะได้ใช้ระบบนั้น เรียนสบาย ได้ประโยค ๙ ง่ายกว่าระบบเดิม ความรู้แน่นกว่าระบบเดิม ค้นคว้าพระไตรปิฎกได้แตกฉานช่ำชองกว่าเรียนระบบเดิม
เสนอออกมาเลย
หรือว่าเอาเข้าจริงก็ยังทำไม่ได้ ยังไม่มีระบบใหม่อะไรที่ว่านั่น เป็นเพียงอาการดิ้นรนที่อยากจะสอบได้ (ได้ใบรับรอง) ง่ายๆ โดยไม่ต้องเรียนยากๆ
…………………..
ปัญหาส่วนตัวของนักเรียน นอกจากระดับสติปัญญาแล้วน่าจะยังมีอย่างอื่นอีก อยากเรียนบาลี แต่เพราะมีปัญหาจึงไม่ได้เรียน คณะสงฆ์ควรช่วยเหลืออย่างไร
นึกถึงการบริหารงานคณะสงฆ์ของเดิมแบ่งออกเป็น ๔ ด้าน คือ การปกครอง การศาสนศึกษา การเผยแผ่ และการสาธารณูปการ แล้วต่อมาเพิ่มอีก ๒ ด้าน คือ การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์
การศึกษาสงเคราะห์นั้นเท่าที่ทำกันอยู่เน้นที่การช่วยเหลือเกื้อกูลให้เด็กที่ขัดสนขาดแคลนได้รับการศึกษาสะดวกขึ้น เช่นให้ทุนการศึกษา ส่งเสียเด็กเป็นรายบุคคล นี่คืองานที่คณะสงฆ์ทำอยู่
ผมว่าคณะสงฆ์น่าจะลืมคนของคณะสงฆ์เองไปเสียสนิท นั่นคือสงเคราะห์พระเณรให้ได้เรียนบาลีสะดวกขึ้น
ก่อนเรียน ขณะเรียน มีปัญหาอะไร คณะสงฆ์มีหน่วยงานที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด (๑) การศาสนศึกษา และ (๒) การศึกษาสงเคราะห์ ๒ แรงร่วมด้วยช่วยกันได้สบายอยู่แล้ว
แต่ ณ วันนี้หน่วยงานที่่จะทำงานที่ว่านี้ยังไม่มี
นักเรียนบาลีมีปัญหา ก็แก้ปัญหากันเอาเอง เช่นถามมาที่อาจารย์ทองย้อยเป็นต้น-ซึ่งแทบจะช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ไม่ได้เลย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๖:๐๖