นิพฺพาน (บาลีวันละคำ 210)
นิพฺพาน
อ่านว่า นิบ-พา-นะ
ภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน อ่านว่า นิบ-พาน
(๑) “นิพฺพาน” ในแง่ภาษา
1- “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากเครื่องร้อยรัด”
2- “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”
3- “สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา”
4- “สภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”
(๒) “นิพฺพาน” ในแง่ความหมาย
1- การดับของไฟหรือความร้อน
2- อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี
3- การดับไฟทางใจ 3 กอง
4- ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบายมุข, ความสุขสำราญ
(๓) “นิพฺพาน” ในแง่ความเข้าใจ
1- นิพพานไม่ใช่สถานที่ ซึ่งมีอยู่แล้ว ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะหรือคุณภาพของจิตใจ
2- นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็เป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น
3- นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือฟังคำบรรยาย เหมือนรสอาหาร ต่อให้พรรณนาหยดย้อยก็รู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรส แม้ไม่ต้องพรรณนาก็รู้ได้เอง
4- ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือนอกโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ
วิธีวัดผลง่ายๆ :
1- ไม่ติดทั้งดีทั้งชั่ว
2- รู้ตัวทั่วพร้อมผ่องใส
3- รู้ควรไม่ควรทำอันใด
4- กระทบแต่ไม่กระเทือน
: เมื่อไรเป็นอย่างนี้ นั่นแหละ นิพพานแล้ว
บาลีวันละคำ (210)
4-12-55