ปุพเพกตปุญญตา (บาลีวันละคำ 3,283)
ปุพเพกตปุญญตา
ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน
คำในพระสูตร: ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ปุบ-เพ จะ กะ-ตะ-ปุน-ยะ-ตา)
“ปุพเพกตปุญญตา” อ่านว่า ปุบ-เพ-กะ-ตะ-ปุน-ยะ-ตา
แยกศัพท์เป็น ปุพเพ + กต + ปุญญ + ตา
(๑) “ปุพเพ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปุพฺเพ” (ปุบ-เพ, มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้า) คำเดิมเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปุพฺพ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพ + อ = ปุพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “ปุพฺเพ” แปลว่า “ในกาลก่อน” คือในอดีตกาล หรือในชาติปางก่อน
(๒) “กต”
บาลีอ่านว่า กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (กรฺ > ก)
: กรฺ + ต = กรต > กต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากระทำแล้ว”
“กต” เป็นรูปคำกริยากิตก์ และใช้เป็นคุณศัพท์ด้วย หมายถึง ทำ, ประกอบ, สร้างแล้ว, สำเร็จแล้ว (done, worked, made)
(๓) “ปุญญ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปุญฺญ” (ปุน-ยะ, มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (ธาตุ = ชำระ สะอาด) + ณฺย ปัจจัย, ลง น อาคม, ลบ ณฺ, แปลง นฺย (คือ น อาคม + (ณฺ)-ย ปัจจัย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุ + น + ณฺย = ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด” “กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด”
(2) ปุชฺช (น่าบูชา) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ชฺช, ช และ ณ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุชฺช + ชนฺ + = ปุชฺชชนฺ + ณฺย = ปุชฺชชนณฺย > ปุชนณฺย > ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”
(3) ปุณฺณ (เต็ม) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺณ, ก และ ณ, แปลง รย (คือ ร ที่ กรฺ + ย ที่ ณฺย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุณฺณ + กรฺ = ปุณฺณกร + ณฺย = ปุณฺณกรณฺย > ปุกรณฺย > ปุรณฺย > ปุรฺย > ปุ (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “บุญ” เป็นอังกฤษว่า merit; meritorious action; virtue; righteousness; moral acts; good works. adj. meritorious; good.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุญฺญ” ว่า merit, meritorious action, virtue (บุญ, กรรมดี, ความดี, กุศล)
บาลี “ปุญฺญ” สันสกฤตเป็น “ปุณฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุณฺย : (คำคุณศัพท์) ‘บุณย, บุณย์,’ สาธุ, บริศุทธ์, ธรรมิก; สวย, น่ารัก; หอม; virtuous, pure, righteous; beautiful, pleasing; fragrant;- (คำนาม) สทาจาร, คุณธรรม; บุณย์หรือกรรมน์ดี; ความบริศุทธิ; virtue, moral or religious merit; a good action; purity.”
“ปุญฺญ” ภาษาไทยใช้ว่า “บุญ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บุญ, บุญ– : (คำนาม) การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี. (คำวิเศษณ์) ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้คำนิยามใหม่เป็นว่า –
“บุญ, บุญ– : (คำนาม) ความสุข เช่น หน้าตาอิ่มบุญ; การกระทําดีตามหลักคําสอนในพระพุทธศาสนา เช่น ไปทำบุญที่วัด; ความดี เช่น ปล่อยนกปล่อยปลาเอาบุญ, คุณงามความดี เช่น เขาทำบุญช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก, ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น คนใจบุญ, ผลของการทำความดีจากชาติปางก่อน เช่น เขามีบุญจึงเกิดมาบนกองเงินกองทอง. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”
(๔) “ตา”
เป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ในบาลีไวยากรณ์อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “ตัทธิต” (ตัด-ทิด) ตา-ปัจจัยเป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แทนศัพท์ว่า “ภาว” (ความเป็น) ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–”
เทียบกับภาษาอังกฤษอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น –
happy แปลว่า สุข สบาย
happiness แปลว่า ความสุข
“-ตา” ก็เหมือน -ness นั่นแหละ
การประสมคำ :
(๑) ปุพฺเพ + กต = ปุพฺเพกต (ปุบ-เพ-กะ-ตะ) แปลว่า “-ที่ทำไว้ในกาลก่อน” หมายถึง -ที่เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เบื้องต้น
(๒) ปุพฺเพกต + ปุญฺญ = ปุพฺเพกตปุญฺญ (ปุบ-เพ-กะ-ตะ-ปุน-ยะ) แปลว่า “บุญที่ทำไว้ในกาลก่อน” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง บุคคลที่ทำบุญไว้ในปางก่อน
(๓) ปุพฺเพกตปุญฺญ + ตา = ปุพฺเพกตปุญฺญตา (ปุบ-เพ-กะ-ตะ-ปุน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้มีบุญที่ทำไว้ในกาลก่อน” หมายถึง ความเป็นผู้ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
“ปุพฺเพกตปุญฺญตา” ทับศัพท์แบบไทยเป็น “ปุพเพกตปุญญตา” อ่านเท่าคำบาลี คือ ปุบ-เพ-กะ-ตะ-ปุน-ยะ-ตา
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 5 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา” (ปุบ-เพ จะ กะ-ตะ-ปุน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้มีบุญที่ทำไว้ในกาลก่อน” ไขความว่า ความเป็นผู้ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
“ปุพเพ” ในมงคลข้อนี้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นชาติก่อนเท่านั้น แม้ปฐมวัยแห่งชีวิต (เช่นหัดอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เป็นเหตุให้อ่านหนังสือคล่องในวันนี้) ชั้นที่สุดเมื่อวานนี้หรือแม้แต่เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ก็อยู่ในความหมายของ “ปุพเพ” ได้ทั้งสิ้น
“ปุพเพ” จึงหมายถึง การเตรียมพร้อมหรือเตรียมตัวไว้พร้อมเสมอก่อนที่จะมีเหตุใดๆ เกิดขึ้น
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
5. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น — Pubbekatapuññatā: having formerly done meritorious deeds)
…………..
ในอรรถกถาท่านขยายความ “ปุพเพกตปุญญตา = ความเป็นผู้มีบุญที่ทำไว้ในกาลก่อน” ไว้ดังนี้ –
…………..
สาปิ มงฺคลํ. กสฺมา. พุทฺธปจฺเจกพุทฺเธ สมฺมุขา ทสฺเสตฺวา พุทฺธานํ วา พุทฺธสาวกานํ วา สมฺมุขา สุตาย จตุปฺปทิกายปิ คาถาย ปริโยสาเน อรหตฺตํ ปาเปณาตีติ กตฺวา. โย จ มนุสฺโส ปุพฺเพ กตาธิกาโร อุสฺสนฺนกุสลมูโล โหติ โส เตเนว กุสลมูเลน วิปสฺสนํ อุปฺปาเทตฺวา อาสวกฺขยํ ปาปุณาติ ยถา ราชา มหากปฺปิโน อคฺคมเหสี จ. เตน วุตฺตํ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา มงฺคลนฺติ.
แม้ปุพเพกตปุญญตา–ความเป็นผู้ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้นนั้น ก็เป็นมงคล เพราะเหตุไร? เพราะปุพเพกตปุญญตาย่อมทำให้บรรลุพระอรหัตเมื่อจบคาถาเพียงสี่บทที่แสดงต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือที่ฟังเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า
ก็มนุษย์ผู้ใดสร้างบารมีไว้ มีกุศลมูลที่ได้เพิ่มพูนมาก่อน มนุษย์ผู้นั้นบำเพ็ญวิปัสสนาให้เกิดแล้วย่อมบรรลุธรรมที่สิ้นอาสวะด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล เหมือนพระเจ้ามหากัปปินะและอัครมเหสีฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้พระภาคจึงตรัสว่า ปุพเพกตปุญญตา-ความเป็นผู้ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้นเป็นมงคล
ที่มา: ปรมัตถโชติกา ขุททกปาฐวัณณนา หน้า 178
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บุญที่ทำไว้แล้วก็ควรปลื้ม
: แต่อย่าลืมบุญที่ยังไม่ได้ทำ
—————–
ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:
#บาลีวันละคำ (3,283) (ชุดมงคล 38)
8-6-64