บาลีวันละคำ

ปฏิรูปเทสวาส (บาลีวันละคำ 3,282)

ปฏิรูปเทสวาส 

อยู่ในปฏิรูปเทส

คำในพระสูตร: ปฏิรูปเทสวาโส (ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-วา-โส จะ) 

ปฏิรูปเทสวาส” อ่านแบบไทยว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-วาด 

อ่านแบบบาลีว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-วา-สะ 

แยกศัพท์เป็น ปฏิรูปเทส + วาส

(๑) “ปฏิรูปเทส

อ่านแบบบาลีว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ

อ่านแบบไทยว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เทด

ประกอบด้วย ปฏิรูป + เทส

(ก) “ปฏิรูป” < ปฏิ + รูป (ปะ-ติ-รู-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “รูปเฉพาะ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –

1 พอเหมาะ, สมควร, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, เป็นไปได้ (fit, proper, suitable, befitting, seeming)

2 เทียม, ปลอม, ไม่แท้, คล้าย, เหมือน (like, resembling, disguised as, in the appearance of, having the form) เช่น “มิตรปฏิรูป” คือคนที่เหมือนกับจะเป็นเพื่อน แต่ไม่ใช่เพื่อน ซึ่งก็เท่ากับศัตรูที่แฝงมาในคราบของเพื่อน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิรูป, ปฏิรูป– : (คำวิเศษณ์) สมควร, เหมาะสม, เช่น ปฏิรูปเทส คือ ถิ่นที่สมควร หรือ ถิ่นที่เหมาะสม; เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป. (คำกริยา) ปรับปรุงให้สมควร เช่น ปฏิรูปบ้านเมือง. (ป.).”

(ข) “เทส” (เท-สะ) รากศัพท์มาจาก ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง, ประกาศ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: ทิสฺ + = ทิสณ > ทิส > เทส แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” หมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country) 

เทส” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทศ, เทศ-, เทศะ : (คำวิเศษณ์) ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ. (คำนาม) ถิ่นที่, ท้องถิ่น, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

ปฏิรูป + เทส = ปฏิรูปเทส แปลว่า “ถิ่นที่เหมาะสม” (suitable region) หมายถึง ถิ่นเจริญ มีคนดี มีนักปราชญ์ มีโอกาสทำความดีได้สะดวก

คำนี้มีแง่คิด –

1 “ปฏิรูปเทส” นักเรียนบาลีในไทยมักออกเสียงแยกเป็น ปฏิรู + ปเทส คือให้น้ำหนักเป็น “ปเทส” = “ประเทศ” ตามความหมายในภาษาไทย (ประเทศ = บ้านเมือง, แว่นแคว้น) 

ความจริง “เทส” ในภาษาบาลีหมายถึง region หรือ country ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อแยกเช่นนั้นแล้วก็ทำให้คำว่า “ปฏิรูป” เหลือเพียง “ปฏิรู-” (ไม่มีศัพท์เช่นนี้) เนื่องจาก ไปรวมกับ “เทส” เป็น “ปเทส” ไปแล้ว 

2 เมื่อจะให้คงเป็น “ปฏิรูป” ด้วย และเป็น “ปเทส” ด้วย ก็ต้องเขียนแก้กลับเป็น ปฏิรูป + ปเทส = ปฏิรูปปเทส (ปะ-ติ-รู-ปะ-ปะ-เท-สะ, ปลา 2 ตัว, คำเดิม ปลา ตัวเดียว, บาลีไม่มีคำที่สะกดแบบนี้) เขียนเป็นคำไทยว่า “ปฏิรูปประเทศ” (อ่านแบบลากเข้าความว่า ปะ-ติ-รูบ-ปฺระ-เทด)

3 คำว่า “ปฏิรูป” ในภาษาไทย มักเข้าใจกันในความหมายว่า “ปรับปรุงให้สมควร” ซึ่งใช้เทียบกับภาษาอังกฤษว่า reform (re = ปฏิ form = รูป, reform = ปฏิรูป) ดังนั้น “ปฏิรูปประเทศ” ในภาษาไทยจึงมีความหมายว่า “ปรับปรุงประเทศให้สมควร” คือให้เป็นบ้านเมืองที่เหมาะสม มีคนดี ไม่ทุจริตโกงกิน มีนักปราชญ์ มีโอกาสทำความดีได้สะดวก

ข้อย้ำว่า ในมงคลข้อนี้ “ปฏิรูปเทส” คือ ปฏิรูป (สมควร, เหมาะสม) + เทส (สถานที่, ถิ่น) ไม่ใช่ ปฏิรูป + ปเทส 

มงคลข้อนี้ใช้คำว่า “เทส” ไม่ใช่ “ปเทส

(๒) “วาส

บาลีอ่านว่า วา-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย

ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย (เช่น เณ ณฺย) มักไม่ปรากฏตัว (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ลบ ณ ทิ้งเสีย”) แต่มีอำนาจทีฆะต้นธาตุ คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา” 

: วสฺ + = วสณ > วส > วาส

วาส” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) มีชีวิตอยู่, การพักแรม, ชีวิต (living, sojourn, life)

(2) บ้าน, เรือน, ที่อยู่ (home, house, habitation)

(3) สถานะ, สภาวะ (state, condition)

(4) พักอยู่, ดำรงอยู่, อาศัยอยู่, ใช้เวลา (staying, living, abiding, spending time)

ปฏิรูปเทส + วาส = ปฏิรูปเทสวาส (ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-ว-สะ) แปลว่า “อยู่ในปฏิรูปเทส” 

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 4 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ปฏิรูปเทสวาโส ” (ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-วา-โส จะ) แปลกึ่งทับศัพท์ว่า “การอยู่ในปฏิรูปเทส” ไขความว่า การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

4. ปฏิรูปเทสวาโส (อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี — Paṭirūpadesavāsa: living in a suitable region; good environment)

…………..

ในอรรถกถาท่านขยายความ “ปฏิรูปเทสวาส = การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏิรูปเทโส  นาม  ยตฺถ  จตสฺโส  ปริสา  วิจรนฺติ  ทานาทีนิ ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ  ปวตฺตนฺติ  นวงฺคสตฺถุสาสนํ ทิปฺปติ  ตตฺถ  นิวาโส  สตฺตานํ  ปุญฺญกิริยปจฺจยตฺตา  มงฺคลนฺติ  วุจฺจติ. 

ถิ่นใด บริษัท 4 (คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ยังจาริกอยู่ ยังบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นอยู่ นวังสัตถุศาสน์ (คือคำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์ประกอบ 9 อย่าง) ยังรุ่งเรื่องอยู่ ถิ่นนั้นชื่อว่า ปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การบำเพ็ญบุญของคนทั้งหลาย

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 81 หน้า 86

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สิ่งแวดล้อมเพียงแต่ยื่นโอกาสมาให้

: ความสำเร็จนั้นไซร้ท่านต้องคว้าเอาเอง

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,282) (ชุดมงคล 38)

7-6-64

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *