บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๑)

ลักษณะนิสัยในการสื่อสารสมัยนี้ (๑)

สมัยก่อนโน้น การสื่อสารมีความหมายเพียงแค่คนบอกข่าวกล่าวสารให้กันฟังด้วยการพูด การออกท่าทาง และการทำเครื่องหมายบางอย่าง

ต่อมาพอมนุษย์รู้จักเขียนหนังสือ ก็ใช้ตัวหนังสือเป็นเครื่องมือแทนการพูด เริ่มจากเขียนให้อ่านกันเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่ม แล้วก็ค่อยๆ ขยายออกเป็นเขียนให้คนทั่วไปอ่าน

พอมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้น ก็ใช้วิธีพิมพ์ข้อความแล้วส่งไปสู่สาธารณชนซึ่งสามารถทำได้กว้างขวางกว่าการเขียนด้วยมือ นี่คือที่มาของหนังสือพิมพ์ รวมทั้งหนังสือที่เป็นเล่มๆ คนก็รับรู้เรื่องราวข่าวสารจากการอ่านแทนการบอกกล่าวกันด้วยคำพูดปากต่อปาก

พอมีระบบการส่งกระจายเสียงเกิดขึ้น การที่คนพูดอยู่ในที่หนึ่งแล้วได้ยินไปได้ไกลๆ ก็เป็นช่องทางสื่อสารอีกทางหนึ่ง นี่คือการสื่อสารทางวิทยุ คนก็รับรู้เรื่องราวข่าวสารด้วยการฟัง แต่ไม่ใช่ฟังจากคนที่พูดอยู่ตรงหน้าเหมือนสมัยก่อน คนพูดกับคนฟังไม่ต้องเห็นตัวกัน

พอมีระบบส่งภาพเกิดขึ้น คราวนี้ได้ยินทั้งเสียงได้เห็นทั้งภาพเหมือนอยู่ต่อหน้าหรือในเหตุการณ์จริง นี่คือสื่อสารทางโทรทัศน์

ตัดมาถึงปัจจุบันวันนี้ มีโทรศัพท์ มีเฟซบุ๊ก มีไลน์ มีทวิตเตอร์ มีวีดิโอคอล มีระบบสื่อสารแปลกๆ อีกมากมายเกิดขึ้น คนก็หันมาบอกข่าวกล่าวสารกันโดยช่องทางเหล่านี้

ผลก็คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ตามระบบและรูปแบบเดิมค่อยๆ หายไป ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือคนอ่านหนังสือที่เป็นแผ่นกระดาษน้อยลง แต่อ่านจากหน้าจออุปกรณ์สื่อสารกันมากขึ้น 

การเขียนหนังสือโดยใช้กระดาษ ดินสอ ปากกา ลดลง คนหันไปเขียนด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมากขึ้น

เมื่อช่องทางการสื่อสารมีมากขึ้น สะดวกขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น ข่าวสารก็แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น เรื่องที่เคยสื่อสารด้วยการกระซิบกระซาบรู้กันเฉพาะคน ก็กลายเป็นรู้กันเป็นสาธารณะ 

กระทบไปถึงถ้อยคำภาษาที่เคยพูดเขียนรู้กันเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่ม ก็กลายมาเป็นภาษาสาธารณะ

การสะกดคำและการออกเสียง ที่ครั้งหนึ่งเคยอ้างกันว่า ใช้คำอย่างนี้ สะกดอย่างนี้ ออกเสียงอย่างนี้ เป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ภาษาที่เป็นทางการ ก็อ้างไม่ได้และฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว เพราะเขียนไปแล้วอ่านไปแล้วก็รู้เห็นกันทั่วไปเป็นสาธารณะ 

ผลก็คือถ้อยคำภาษาแปลกๆ สะกดแปลกๆ ออกเสียงแปลกๆ เกิดขึ้นและแพร่ระบาดทั่วไป เข้ามาแทนที่ภาษาที่ถูกแบบแผน ภาษาที่เป็นระเบียบ ภาษาที่งามๆ เอาภาษาที่ควรใช้เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มมาสื่อสารกับสาธารณชนกันทั่วไป

ผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อให้เกิดลักษณะนิสัยที่ไม่พึงปรารถนาในวิธีการสร้างสารและส่งสาร-สื่อสารแพร่ระบาดทั่วไป ที่เรียกกันว่า ภาพตัดต่อ ข่าวตัดแต่ง หรือพูดกันตรงๆ ก็คือโกหกหลอกลวงกันมากขึ้น ง่ายขึ้น และกว้างขวางขึ้น

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีสติในการเสพสาร เราก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้สร้างสารและส่งสารอย่างน่าสงสาร

เราผู้เสพสาร น่าสงสาร-ที่ตกเป็นเหยื่อ

เขาผู้สร้างสารและส่งสาร น่าสงสาร-ที่มีความคิดเพียงแค่เห็นเพื่อนร่วมโลกเป็นเหยื่อ

ในฐานะที่เราอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เรื่องเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้นำผู้มีหน้าที่บริหารสังคมจะเข้ามากำกับดูแลและตรวจตราสอดส่อง แต่เมื่อผู้มีหน้าที่ไม่ทำหน้าที่หรือทำได้ไม่ทั่วถึงรอบถ้วน เราก็ต้องดูแลรักษาตัวเองกันไปก่อน

ด่ากัน เหยียบย่ำกันให้น้อยลง

ให้สติกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันให้มากขึ้น

หมายเหตุ:

ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องหนึ่งเพราะมีความคิดอะไรอยู่อย่างหนึ่ง แต่พอลงมือเขียน เรื่องก็ออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง-ก็คืออย่างที่ญาติมิตรอ่านมาจนจบนี่แหละ 

เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะกลับไปเขียนเรื่องที่ตั้งใจว่าจะเขียนอีกที ที่เขียนมานี้ถือเสียว่าเป็นอารัมภบทหรือ “นำร่อง” ก็แล้วกัน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ เมษายน ๒๕๖๔

๑๒:๕๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *