ไตรสรณคมน์ (บาลีวันละคำ 2,948)
ไตรสรณคมน์
ที่พึ่งอันเกษม
อ่านว่า ไตฺร-สะ-ระ-นะ-คม
ประกอบด้วยคำว่า ไตร + สรณ + คมน์
(๑) “ไตร”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –
ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม
เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน
คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส
จับหลักไว้ง่ายๆ (แต่อาจไม่เสมอไป) ว่า –
: ติ > ตรี
: เต > ไตร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”
(๒) “สรณ”
อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี”
“สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)
(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)
(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)
(๓) “คมน์”
รูปคำบาลีเป็น “คมน” อ่านว่า คะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: คมฺ + ยุ > อน = คมน แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “การถึง”
“คมน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การไป, การเคลื่อนไหว, การเดินทาง, การเดินไป (the fact or the state of going, movement, journey, walk)
(2) ความพยายาม, การนำไป, การติดตาม (striving for, the leading of, pursuit)
(3) (ใช้ในฐานะเป็นคุณศัพท์) ไปหรือนำไป, ดำเนินไป (going or leading to, conducive to)
คำว่า “คมนาคม” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย ก็มาจาก “คมน” คำนี้ + “อาคม” (การมา)
: คมน + อาคม = คมนาคม แปลว่า “การไปและการมา”
การประสมคำ :
๑ ติ + สรณ = ติสรณ แปลว่า “สรณะสาม” หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
“ติสรณ” ในภาษาไทยควรจะเป็น “ตรีสรณ” แต่เราใช้เป็น “ไตรสรณ”
๒ ติสรณ + คมน = ติสรณคมน แปลว่า “การถึงสรณะสาม” คือการมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง
“ติสรณคมน” ถ้าใช้กับบุคคลภายนอกพระพุทธศาสนา (ในการกล่าวถึงครั้งแรก) มีความหมายเท่ากับการเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา
เวลาพระสงฆ์ให้ศีล เมื่อจบวรรคที่ว่า “ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” พระท่านจะว่า “ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ” (ติ-สะ-ระ-นะ-คะ-มะ-นัง นิด-ถิ-ตัง) แปลความว่า “จบขั้นตอนการถึงสรณะสาม”
ผู้รับศีลจะกล่าวรับว่า “อาม ภนฺเต” (อา-มะ พัน-เต) แปลความว่า “เป็นเช่นนั้นเจ้าข้า” หรือ “รับทราบเจ้าข้า”
“ติสรณคมน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ไตรสรณคมน์” และเคลื่อนที่เป็น “ไตรสรณาคมน์” ก็มี (-ณ– กับ –ณา-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไตรสรณคมน์, ไตรสรณาคมน์ : (คำนาม) การยึดถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกโดยการน้อมนำเอาพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ มาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ารอให้พระลงจากหิ้งมาช่วยใคร
: แต่จงนับถือพระรัตนตรัยให้ถูกวิธี
#บาลีวันละคำ (2,948)
8-7-63