สัตบุรุษ (บาลีวันละคำ 213)
สัตบุรุษ
คำนี้ตรงกับบาลีว่า “สปฺปุริส” (สับ-ปุ-ริ-สะ)
มีรากศัพท์มาจาก “สนฺโต ปุริโส = สปฺปุริโส”
“สนฺต” แปลว่า เงียบ, ราบรื่น, สงบ, บริสุทธิ์
“ปุริส” หมายถึงคน (รวมทั้งชายและหญิง)
“สปฺปุริส” จึงแปลว่า “คนสงบ” หรือ “ผู้บริสุทธิ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า
“คนที่เป็นสัมมาทิฐิ, คนดีน่านับถือ มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม”
ฝรั่งแปล “สปฺปุริส” ว่า a good, worthy man
“สปฺปุริส” สันสกฤตเป็น “สตฺปุรุษ” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตว่า “สัตบุรุษ” และ พจน.กำหนดให้อ่านว่า สัด-บุ-หฺรุด
แต่มักอ่านกันตามสะดวกว่า สัด-ตะ-บุ-หฺรุด
บางทีก็เลยเขียนตามเสียงอ่านเป็น “สัตตบุรุษ” จึงทำให้เห็นเป็นคำว่า “สัตต” ที่แปลได้ว่า “เจ็ด”
ยิ่งมีธรรมะชุดหนึ่งเรียกว่า “สัปปุริสธรรม” แปลว่า “ธรรมของสัตบุรุษ” มี 7 ข้อ เลยเข้าทางกันพอดี
คำเก่าๆ เขียน “สัปปุรุษ” (สับ-ปุ-หฺรุด) ก็มี เอาบาลีปนสันสกฤต
สปฺปุริส > สัปปุรุษ : สตฺปุรุษ > สัตบุรุษ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเจ็ดใดๆ ทั้งสิ้น
คุณธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้มีเฉพาะชุด 7 ข้อ
ชุด 3 ข้อก็มี ชุด 4 ข้อก็มี ชุด 8 ข้อก็มี
ใครชอบชุดไหน เชิญหาเอามาใช้ชุดนั้นเทอญ
บาลีวันละคำ (213)
7-12-55
สปฺปุริส
สัตบุรุษ, คนมีคุณค่า a good, worthy man
สนฺต
เงียบ, ราบรื่น, สงบ, บริสุทธิ์ calmed, tranquil, peaceful, pure
พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์
สปฺปุริส ป.
สัปปุรุษ, สัตบุรุษ, ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง บางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่าสัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้
พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows
สัปปุรุษ
เป็นคำเลือนปะปนระหว่าง สัปปุริส ที่เขียนอย่างบาลี กับ สัตบุรุษ ที่เขียนอย่างสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกัน (ดู สัตบุรุษ) แต่ในภาษาไทยเป็นคำอยู่ข้างโบราณ ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง บางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่า สัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต
สัปปุริสธรรม
ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ ข้อ คือ
๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ
๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักเหตุผล
๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน
๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ
๕. กาลัญญุตา รู้จักกาล
๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน
๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล;
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต
สัปปุริสบัญญัติ
ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้, บัญญัติของคนดี มี ๓ คือ
๑. ทาน ปันสละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน บำรุงมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต
ผู้ที่เรียกว่า “สัปปุรุษ”
ยสฺส สกฺกริยมานสฺส อสกฺกาเรน จูภยํ
สมาธิ น วิกมฺปติ อปฺปมาณวิหาริโน ๑
ตํ ฌายินํ สาตติกํ สุขุมทิฏฺิวิปสฺสกํ
อุปาทานกฺขยารามํ อาหุ สปฺปุริโส อิตีติ ฯ ทสมํ ฯ
(1) สมาธิไม่หวั่นไหว้ด้วยสักการะและความเสื่อมสักการะ, อยู่ด้วยผลสมาธิหาประมาณมิได้, ผู้นั้นเพ่งอยู่
(2) ทำความเพียรเป็นไปติดต่อ
(3) เห็นแจ้งด้วยทิฏฐิอย่างละเอียด
(4) ยินดีในพระนิพพานเป็นที่สิ้นอุปาทาน
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า สัปปุรุษ
สัตบุรุษ = (1) มีสมาธิขั้นสูง (2) บำเพ็ญเพียรต่อเนื่อง (3) มีสัมมาทิฏฐิ (4) มุ่งนิพพาน
สคัยหกสูตรที่ ๑๐นิทานวรรค สังยุตตนิกาย ข้อ ๕๕๙
สัตบุรุษ
[สัดบุหฺรุด] น. คนที่เป็นสัมมาทิฐิ, คนดีน่านับถือ มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม. (ส. สตฺปุรุษ; ป. สปฺปุริส).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
สัปปุริส-, สัปปุรุษ
[สับปุริสะ-, สับปุหฺรุด] น. คนที่เป็นสัมมาทิฐิ, คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา, คนที่มีความเห็นชอบตามทํานองคลองธรรม. (ป. สปฺปุริส; ส. สตฺปุรุษ).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554