บาลีวันละคำ

มูรธาภิเษก (บาลีวันละคำ 214)

มูรธาภิเษก

(คำไทยที่มาจากบาลีสันสกฤต)

อ่านว่า มู-ระ-ทา-พิ-เสก เขียนเป็น “มุรธาภิเษก” ก็มี

คำนี้เขียนแบบบาลีเป็น “มุทฺธาภิเสก” (มุด-ทา-พิ-เส-กะ) ประกอบด้วยคำว่า มุทฺธา (หรือ มุทฺธ) + อภิเสก

“มุทฺธา” แปลว่า ศีรษะ, หัว, ยอด, จุดสูงสุด

“อภิเสก” แปลว่า การรดน้ำ, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา

“มูรธาภิเษก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายว่า “นํ้ารดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ”

ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาไม่พบคำว่า “มุทฺธาภิเสก” ตรงๆ มีแต่คำว่า “มุทฺธาภิสิตฺต” เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึงกษัตริย์ที่ได้ทำพิธีอภิเษกหรือสวมมงกุฎแล้ว

ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “มูรทฺธาภิษิกฺต” ตรงกับบาลี หนังสือสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปลว่า พระราชา, a king

“มูรธาภิเษก” ในภาษาไทยเป็นคำสูง ไม่ใช่คำที่พูดกันในชีวิตประจำวัน พบแต่ในหนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์

เรื่องน่ารู้คือ “มุทฺธา” นอกจากแปลว่า “ศีรษะ” แล้ว ยังแปลว่า หลง, งงงวย, โง่เขลา ได้อีกด้วย

น่าลากเข้าความว่า อวัยวะที่เป็นศูนย์กลางของการหลง, งงงวย, โง่เขลา ก็คือศีรษะนั่นเอง

และคำว่า “มุทฺธา” นี้ ตามรากศัพท์จริงๆ แปลว่า “อวัยวะเป็นที่ยินดีของเหา”

เพราะฉะนั้น : อะไรที่เป็นของสูง ต้องคิดให้ลึก และต้องระวังให้จงหนัก

เพราะเหาอาจจะกินหัวเอาได้ง่ายๆ

บาลีวันละคำ (214)

8-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย