สตฺต (บาลีวันละคำ 212)
สตฺต
อ่านว่า สัด-ตะ
คำว่า “สตฺต” แปลได้ 2 อย่างคือ (1) จำนวนเจ็ด (2) แปลทับศัพท์ใช้ในภาษาไทยว่า “สัตว์” ซึ่งเป็นการสะกดตามนัยสันสกฤตที่เขียน “สตฺตฺว”
“สตฺต” ตามความหมายที่ (2) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ติดข้องหมกมุ่น” “ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” “ผู้ประกอบด้วยลักษณะของผู้ติดข้อง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “สัตว์” ว่า –
“สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน”
เพราะในภาษาไทยใช้คำว่า “สัตว์” แบบจำกัดความหมายเช่นนี้ เมื่อเราเห็นคำว่า “สัตว์” จึงเข้าใจไปอย่างเดียวว่า “สัตว์ที่ไม่ใช่คน” หรือ “สัตว์เดรัจฉาน” พลอยทำให้ความเข้าใจในทางธรรมแคบและคลาดเคลื่อนไปด้วย เช่น
– “ห้ามฆ่าสัตว์” ก็เข้าใจกันว่าห้ามฆ่าสัตว์เดรัจฉาน
– คำแผ่เมตตาที่ว่า “สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์…” ก็เข้าใจกันว่าแผ่เมตตาให้สัตว์เดรัจฉาน
ในภาษาบาลี “สตฺต” หมายถึง คน, มนุษย์, ทรัพย์, สรีระ, ชีวิตินทรีย์ และมิได้มีความหมายถึงสัตว์เดรัจฉานโดยตรงเหมือนที่เข้าใจกันในภาษาไทย
ฝรั่งแปลคำว่า “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person
ในภาษาบาลีมีคำที่หมายถึง “คน, มนุษย์” หลายคำ คือ
ปาโณ, สรีรี, ภูตํ, เทหี, ปุคฺคโล, ชีโว, ปาณี, ปชา, ชนฺตุ, ชโน, โลโก, ตถาคโต
ทุกคำเหล่านี้มีความหมายอย่างเดียวกับ “สตฺต”
ระวัง : ความคิดไม่คล่อง เพราะติดข้องในถ้อยคำ
บาลีวันละคำ (212)
6-12-55