บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถอดรองเท้าใส่บาตร

———————

หรือ-ใส่รองเท้าได้ไหม

ตลกที่ไม่ควรขำจนลืมสาระ

มีคำแนะนำอันเป็นที่รู้กันว่า เวลาใส่บาตรควรถอดรองเท้าก่อน หรืออย่าใส่บาตรทั้งที่กำลังสวมรองเท้าอยู่

คำแนะนำนี้มีคนเอาไปคิดมุก

“ถอดรองเท้าใส่บาตร” คือถอดรองเท้าก่อนที่จะใส่บาตร เพราะสวมรองเท้าด้วยใส่บาตรด้วย เป็นการไม่เคารพพระ 

คนคิดเป็นมุกว่า ถอดรองเท้า แล้วก็เอารองเท้าใส่บาตรแทนอาหาร – นี่คือถอดรองเท้าใส่บาตร – กะจะให้ขำตรงนี้

“ใส่รองเท้าได้ไหม” คือข้อฉงนว่า เวลาจะใส่บาตร สวมรองเท้าอยู่ ใส่บาตรได้ไหม พูดสั้นๆ – ใส่รองเท้าได้ไหม (เวลาใส่บาตร) 

คนก็เอาไปคิดเป็นมุกว่า ใส่ข้าว ใส่แกง ใส่ขนม ของพวกนี้ใส่บาตรได้ แล้วใส่รองเท้าล่ะได้ไหม คือเอารองเท้าใส่บาตรด้วย ได้ไหม – กะจะให้ขำตรงนี้

…………………

ถ้าจะว่าไปแล้ว ต้องยอมรับว่าคนที่คิดมุกแบบนี้เป็นคนที่รู้ภาษาไทยดีมากๆ แต่น่าเสียดายที่มุ่งแต่จะเล่นสนุก แบบเดียวกับพวกตลกที่เอาพระเณรมาล้อเลียน

การใส่บาตรนั้นเป็นบุญกิริยาที่สำคัญ เมื่อเป็นเรื่องบุญกุศลก็ไม่น่าจะเอามาทำเป็นเรื่องตลก อันที่จริง ทาน ศีล ภาวนา เป็นหลักไตรสิกขาของชาวพุทธ เป็นสิ่งที่ควรเคารพ อย่างเลวๆ ถ้าไม่เคารพก็อย่าเอามาพูดเล่น

พูดอย่างนี้ก็คงมีคนอยากบอกว่า … อย่าเครียดสิลุง

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะทำความเข้าใจกันบ้าง 

คือเรามักจะเข้าใจกันว่า ต้องเล่นตลก ต้องพูดตลก ต้องพูดล้อเลียนเล่น ต้องเอาเรื่องใต้สะดือมาพูดเล่นเฉียดไปเฉียดมา – แบบนั้นจึงจะถือว่าไม่เครียด ใครไม่ทำแบบนั้น หรือไม่สนุกกับการทำแบบนั้น ถือว่าเป็นคนเครียด 

เครียดหรือไม่เครียด เอาอะไรเป็นเกณฑ์

นักเรียนบาลีย่อมจะเคยได้เห็นคำว่า –

…………………….

อถโข  ภควา  …  ธมฺมิยา  กถาย  สนฺทสฺเสตฺวา  สมาทเปตฺวา  สมุตฺเตเชตฺวา  สมฺปหํเสตฺวา  … 

พระผู้มีพระภาคทรงทำให้ … เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา (ถ้อยคำอันประกอบด้วยธรรม) …

…………………….

หรือถอดคำกิริยาเป็นคำนามว่า สันทัสสนา สมาทปนา สมุตเตชนา สัมปหังสนา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายคำทั้ง ๔ ไว้ดังนี้ –

…………………….

สันทัสสนา: การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่างๆ แจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา

สมาทปนา: การให้สมาทาน หรือชวนให้ปฏิบัติ คืออธิบายให้เห็นว่าเป็นความจริง ดีจริง จนใจยอมรับที่จะนำไปปฏิบัติ 

สมุตเตชนา: การทำให้อาจหาญ คือเร้าใจให้แกล้วกล้า ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขันมั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

สัมปหังสนา: การทำให้ร่าเริงหรือปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้ร่าเริง สดชื่นแจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ 

…………………….

ในฐานะชาวพุทธ เรามีวิธีสนุกร่าเริงแบบพุทธอยู่แล้ว ทำไมไม่เอามาใช้

ผมไม่ได้ต่อต้านการเล่นสนุกแบบชาวโลก แต่มีความเห็นว่า ถ้าอยากจะสนุกแบบนั้นก็มีเรื่องทางโลกๆ ที่สามารถเอามาเล่นสนุกได้อีกเยอะแยะไป 

ถ้าเคารพธรรม ควรหลีกเลี่ยง อย่าเอาเรื่องทางธรรมมาล้อเล่น 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๘:๑๒

—————–

ภาพประกอบ: จาก google

………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *