อนากุลกัมมันตะ (บาลีวันละคำ 3,294)
อนากุลกัมมันตะ
การงานไม่คั่งค้าง
คำในพระสูตร: อนากุลา จ กมฺมนฺตา (อะ-นา-กุ-ลา จะ กำ-มัน-ตา)
“อนากุลกัมมันตะ” อ่านว่า อะ-นา-กุ-ละ-กำ-มัน-ตะ
แยกศัพท์เป็น อนากุล + กัมมันตะ
(๑) “อนากุล”
อ่านว่า อะ-นา-กุ-ละ รูปคำเดิมมาจาก น + อากุล
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “อากุล” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อา– จึงแปลง น เป็น อน
(ข) “อากุล”
อ่านว่า อา-กุ-ละ, –กุ– ไม่ใช่ –กู-) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + กุลฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + กุล + อ = อากุล แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาปล่อย” หรือ “สิ่งที่ถูกปล่อยให้กระจาย” หมายถึง วุ่นวาย, สับสน, รกรุงรัง, ยังไม่ได้สะสางให้เรียบร้อย คำที่นิยมแปลกันมากคือ “คั่งค้าง”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อากุล : (คำคุณศัพท์) ยุ่ง; disordered, confounded.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “อากุล” ตามรากศัพท์ว่า “revolving quickly”, & so “confused” = หมุนอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นจึงเกิดผลเป็น “confused” = งง
ดังนั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ จึงแปล “อากุล” ว่า entangled, confused, upset, twisted, bewildered (ยุ่งเหยิง, งงงวย, หัวเสีย, บิดเบี้ยว, หัวหมุน)
“อากุล” ในภาษาไทยเป็น “อากูล” (อา-กูน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อากูล : (คำวิเศษณ์) คั่งค้าง เช่น การงานไม่อากูลเป็นมงคลอันสูงสุด. (ป., ส. อากุล).”
เมื่อได้ยินคำว่า “อากูล” คนทั่วไปมักเข้าใจว่าหมายถึง สกปรกน่ารังเกียจ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “ปฏิกูล” (ปะ-ติ-กูน)
“ปฏิกูล” บาลีเป็น “ปฏิกฺกูล” อ่านว่า ปะ-ติก-กู-ละ, (สะกดเป็น “ปฏิกูล” (ไม่ซ้อน กฺ) ก็มี) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + กูลฺ (ธาตุ = กั้น, ห้าม) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ
: ปฏิ + ก + กูล = ปฏิกฺกูล + อ = ปฏิกฺกูล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้าม” (เมื่อพบเห็นสิ่งนั้น ก็ห้ามไม่ให้นำมาใกล้ หรือไม่อยากเข้าใกล้ หรือปฏิเสธ) หมายถึง น่ารังเกียจ, น่าเกลียดชัง, ตรงกันข้าม, ไม่เป็นที่สบอารมณ์ (averse, objectionable, contrary, disagreeable); ความน่าเกลียด, ความไม่สะอาด (loathsomeness, impurity)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิกูล : (คำวิเศษณ์) สกปรกน่ารังเกียจ เช่น สิ่งปฏิกูล. (ป. ปฏิกฺกูล).”
“อากูล” กับ “ปฏิกูล” เป็นคนละคำกันก็จริง แต่ความหมายในบางแง่มีนัยสัมพันธ์กันชอบกลอยู่ เช่นในภาษาไทยมีคำพูดว่า “สกปรกรกรุงรัง”
“สกปรก” ตรงกับ “ปฏิกูล”
“รกรุงรัง” ตรงกับ “อากูล”
ที่ไหนสกปรก ที่นั่นมักจะรกรุงรัง
ที่ไหนรกรุงรัง ที่นั่นมักจะสกปรก
หรือจะลองแปล อากูล–ปฏิกูล เป็นอังกฤษ (แบบเมียเช่า) บางทีอาจช่วยให้แยกความหมายได้ง่ายขึ้น
อากูล = uncleared
ปฏิกูล = uncleaned
คำที่ประสงค์ในที่นี้คือ “อากูล” ไม่ใช่ “ปฏิกูล”
และ “อากูล” นั้น บาลีเป็น “อากุล” อา-กุ-ละ, –กุ– ไม่ใช่ –กู– ที่เป็น “อากูล” นั้นเฉพาะที่ใช้ในภาษาไทย
น + อากุล แปลง น เป็น อน = อนากุล (อะ-นา-กุ-ละ) แปลว่า “ไม่อากูล” คือไม่คั่งค้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนากุล” ว่า clear (สะอาด, เก็บกวาด, สะสาง)
(๒) “กัมมันตะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมนฺต” อ่านว่า กำ-มัน-ตะ ประกอบด้วย กมฺม + อนฺต
(ก) “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
ในที่นี้สะกดเป็น “กัมม” หมายถึง การงาน, กิจ
(ข) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม ที่สุดธาตุเป็น น (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
กมฺม + อนฺต = กมฺมนฺต (กำ-มัน-ตะ) มีความหมายเท่ากับ “กมฺม” แต่เน้นเฉพาะ การกระทำ, การทำงาน; การงาน; ธุรกิจ, อาชีพ (doing, acting, working; work, business, occupation, profession)
อนากุล + กมฺมนฺต = อนากุลกมฺมนฺต (อะ-นา-กุ-ละ-กำ-มัน-ตะ) เขียนแบบไทยเป็น “อนากุลกัมมันตะ” แปลว่า “การงานไม่อากูล”
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 14 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “อนากุลา จ กมฺมนฺตา” (อะ-นา-กุ-ลา จะ กำ-มัน-ตา) แปลว่า “การงานไม่อากูล ประการหนึ่ง” ไขความว่า ทำการงานในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามเวลาที่กำหนด ไม่ทิ้งไว้ให้คั่งค้าง
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
14. อนากุลา จ กมฺมนฺตา (การงานไม่อากูล — Anākulakammanta: a livelihood which is free from complications)*
* ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อาชีพการงาน ที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาธุระ รู้จักกาล ไม่คั่งค้างย่อหย่อน — spheres of work which are free from such unprofitableness as dilatoriness and tardiness. (ขุทฺทก.อ. 153; KhA.139).
…………..
ในคัมภีร์ท่านแสดงอานิสงส์ของ “อนากุลกัมมันตะ = การงานไม่อากูล” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ –
…………..
โย ปน สีตาทีนิ อคเณตฺวา อตฺตโน อนลสตาย กมฺมนฺเต อากุเล น กโรติ โส มหนฺตํ ธนํ อุปฺปาเทตฺวา สุขํ วินฺทติ.
อนึ่ง ผู้ใดไม่คำนึงถึงอุปสรรคมีความหนาวเป็นต้น ย่อมไม่ทำการงานให้อากูลเพราะความที่ตนไม่เกียจคร้าน, ผู้นั้นทำทรัพย์เป็นอันมากให้เกิดขึ้นย่อมประสบสุข
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 412 หน้า 368
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำงานให้เสร็จ ก็เป็นคนเก่งได้
: ทำความดีให้สำเร็จ จึงจะเป็นคนดีได้
#บาลีวันละคำ (3,294) (ชุดมงคล 38)
19-6-64