ปุตตสังคหะ (บาลีวันละคำ 3,292)
ปุตตสังคหะ
สงเคราะห์บุตร
คำในพระสูตร: ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุด-ตะ-ทา-รัด-สะ-สัง-คะ-โห)
“ปุตตสังคหะ” อ่านว่า ปุด-ตะ-สัง-คะ-หะ
แยกศัพท์เป็น ปุตต + สังคหะ
(๑) “ปุตต”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปุตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)
: ปู + ตฺ + ต = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)
(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)
: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ
: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + ต = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู”
“ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลูกชาย (a son)
(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)
“ปุตฺต” ถ้ามาคู่กับ “ธีตา” (รูปศัพท์เดิม “ธีตุ”) คือ ลูกสาว (daughter) จะหมายถึงเฉพาะ ลูกชาย แต่ถ้ามาเดี่ยวๆ และไม่มีข้อความแวดล้อมที่บ่งถึง “ลูกชาย” โดยเฉพาะ เช่นในที่นี้ จะหมายถึงทั้งลูกชายและลูกสาว กล่าวคือหมายถึง “ลูก” ที่เป็นคำกลางๆ (child)
บาลี “ปุตฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุตร, บุตร– : (คำนาม) ลูก, ลูกชาย. (ส. ปุตฺร; ป. ปุตฺต).”
(๒) “สังคหะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)
: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + อ = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน”
“สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation)
(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification)
(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase)
(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures)
(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour)
ในที่นี้ “สงฺคห” ใช้ในความหมายตามข้อ (5)
บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”
บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “สงเคราะห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”
ปุตฺต + สงฺคห = ปุตฺตสงฺคห (ปุด-ตะ-สัง-คะ-หะ) แปลว่า “การสงเคราะห์บุตร”
“ปุตฺตสงฺคห” เขียนแบบไทยเป็น “ปุตตสังคหะ” อ่านว่า ปุด-ตะ-สัง-คะ-หะ
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 12 และ 13 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” (ปุด-ตะ-ทา-รัด-สะ-สัง-คะ-โห) คำที่ท่านแปลกันมาว่า “การสงเคราะห์บุตรและภรรยา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
12.–13. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห (สงเคราะห์บุตร — Puttasaṅgaha: cherishing of children) และ ทารสงฺคห (สงเคราะห์ภรรยา — Dārasaṅgaha: cherishing of wife)
ทำความเข้าใจก่อน :
คำบาลีในพระสูตรว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” รวมมงคลไว้ 2 ข้อ คือ “ปุตฺตสงฺคห” (สงเคราะห์บุตร) เป็นมงคลข้อที่ 12 และ “ทารสงฺคห” (สงเคราะห์ภรรยา) เป็นมงคลข้อที่ 13
คำบาลีในพระสูตรท่านพูดรวมกันว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” แต่ในทางปฏิบัติต้องแยกเป็น 2 ข้อ เพราะ “ปุตฺต” (บุตร) และ “ทาร” (ภรรยา) อยู่ในฐานะต่างกัน วิธีสงเคราะห์ก็ต่างกัน สงเคราะห์บุตรทำอย่างหนึ่ง สงเคราะห์ภรรยาทำอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องแยกเป็น 2 ข้อ
ถ้าเทียบกับมงคลข้อก่อน คือ “มาตาปิตุอุปัฏฐาน” คำบาลีในพระสูตรท่านก็พูดรวมกันว่า “มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ” (การบำรุงมารดาและบิดา) แต่ไม่แยกเป็น 2 ข้อ เพราะ “มาตา” (มารดา) และ “ปิตุ” (บิดา) อยู่ในฐานะเดียวกัน วิธีบำรุงมารดาและวิธีบำรุงบิดาทำเหมือนกัน บำรุงมารดาอย่างไรก็บำรุงบิดาอย่างนั้น บำรุงบิดาอย่างไรก็บำรุงมารดาอย่างนั้นในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นมงคลข้อเดียว ไม่แยกเป็น 2 ข้อเหมือน “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห”
…………..
ในพระไตรปิฎกท่านแสดงวิธีสงเคราะห์บุตรไว้ดังนี้ –
……………………………….
อิเมหิ โข คหปติปุตฺต ปญฺจหิ ฐาเนหิ ปุตฺเตน ปุรตฺถิมา ทิสา มาตาปิตโร ปจฺจุปฏฺฐิตา ปญฺจหิ โข ฐาเนหิ ปุตฺตํ อนุกมฺปนฺติ ปาปา นิวาเรนฺติ กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ สิปฺปํ สิกฺขาเปนฺติ ปฏิรูเปน ทาเรน สญฺโญเชนฺติ สมเย ทายชฺชํ นิยฺยาเทนฺติ.
……………………………….
(1) ปาปา นิวาเรนฺติ
ห้ามปรามจากความชั่ว
They keep him back from evil.
(2) กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ.
ให้ตั้งอยู่ในความดี
They train him in virtue.
(3) สิปฺปํ สิกฺขาเปนฺติ.
ให้ศึกษาศิลปวิทยา
They have him taught arts and sciences.
(4) ปฏิรูเปน ทาเรน สญฺโญเชนฺติ.
หาคู่ครองที่สมควรให้
They arrange for his marriage to a suitable wife.
(5) สมเย ทายชฺชํ นิยฺยาเทนฺติ.
มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
They hand over his inheritance to him in due time.
ที่มา: สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 199
คำแปลและภาษาอังกฤษ: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [265] ทิศ 6
…………..
ดูก่อนภราดา!
๏ สองชีพเลี้ยงสิบปล้ำ…..เป็นตน
สิบชีพเลี้ยงสองชนม์……..ไป่ได้
เป็นสัจอัศจรรย์จน………..โลกล่ม ลงฤๅ
ใครขบปริศนาให้………….สว่างแล้วเห็นสวรรค์๚ะ๛
—————–
ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:
#บาลีวันละคำ (3,292) (ชุดมงคล 38)
17-6-64