บาลีวันละคำ

สถานการณ์ (บาลีวันละคำ 560)

สถานการณ์

(บาลีไทย)

อ่านว่า สะ-ถา-นะ-กาน

ประกอบด้วย สถาน + การณ์

สถาน” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส

ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า

ฐาน : ที่ตั้ง, ที่รองรับ, ตําแหน่งหน้าที่, หลักฐาน, ลําดับความเป็นอยู่ในสังคม

สถาน : ที่ตั้ง, ที่, แหล่ง, ความเป็นไป, ความเป็นอยู่

การณ์” บาลีเป็น “การณ” (กา-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล” ใช้ในความหมายว่า การกระทำ, วิธีทำ, การปฏิบัติ, การลงโทษ, การฆ่า, การงาน, หน้าที่, เหตุผล, เหตุ, ความจำเป็น

ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า

การณ์ : เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์

สถาน + การณ์ = สถานการณ์ ในภาษาไทย พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “เหตุการณ์ที่กําลังเป็นไป เช่น สถานการณ์บ้านเมืองเป็นปรกติดี

ในภาษาบาลี “ฐาน” กับ “การณ์” ในบางบริบทมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่นหมายถึง “เหตุ” เหมือนกัน แต่ไม่พบคำว่า “ฐานการณ = สถานการณ์” ตามรูปคำและความหมายในภาษาไทย

คำว่า “สถานการณ์” ภาษาอังกฤษว่า situation

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล situation เป็นบาลีไว้หลายศัพท์ มีที่ใกล้กับ “สถานการณ์” มากที่สุดศัพท์หนึ่งว่า ปติฏฺฐาน (ปะ-ติด-ถา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเฉพาะ” (คือเฉพาะหน้า หรือเฉพาะเวลาที่กำลังเป็นไป)

ปติฏฺฐาน” ถ้าถอดเป็นไทย ก็ตรงกับ “ประดิษฐาน” (ปฺระ-ดิด-สะ-ถาน) เราใช้ในความหมายว่า ตั้งไว้, แต่งตั้งไว้ในตําแหน่งสูง

: ภาษา ถ่ายกันไปถ่ายกันมา ถ้าไม่ศึกษาให้ดีๆ ก็ตีกันยุ่ง

: คน พูดกันไปพูดกันมา ถ้าไม่ระวัง “สถานการณ์” ไว้ให้ดี เดี๋ยวก็ตีกันเละ

27-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย