บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนจะชอบหรือชัง

ตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนจะชอบหรือชัง

—————————————

เวลาใครเอาภาพ เอาข่าว เอาข้อเขียน เอาเสียงพูด หรือเอาเรื่องของใครหรือเรื่องอะไรมาเผยแพร่ สิ่งที่คนส่วนมากทำกันก็คือ ชอบทันทีหรือไม่ก็ชังทันที

พูดให้เห็นภาพก็คือ กระโดดเข้าใส่ทันที

ชอบ ก็ชื่นชมสรรเสริญเยินยอทันที

ชัง ก็ด่ายับ หรือรุมกระทืบทันที

ชอบหรือชังทันที ไม่มีการตรวจสอบว่าเท็จหรือจริง จริงหรือเท็จ จริงปนเท็จ เท็จปนจริง เท็จแค่ไหน จริงแค่ไหน ไม่รู้ ไม่รับรู้ ไม่อยากรู้

รับรู้เฉพาะที่ตาเห็น ฟังผ่าน อ่านเผิน แล้วกระโดดเข้าใส่ ชอบแค่นี้

จึงปรากฏอยู่เนืองๆ เมื่อความจริงปรากฏ กลายเป็นชมผิดข้าง ชังผิดคน

ชมไม่เป็นไร ไม่เจ็บ แต่ชังนี่สิ ถูกรุมกระทืบฟรีมาเยอะแล้ว

…………………

การยับยั้งชั่งใจก่อน การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก่อน กลายเป็นเรื่องยาก กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น และกลายเป็นเรื่องที่ไม่นิยมทำ

ผลก็คือ กลายเป็นช่องโหว่ และผู้คนส่วนมากกลายเป็นเหยื่อของเจตนาร้ายหรือไม่ก็การเล่นสนุกไปโดยไม่รู้ตัว

ถ้าขาดสติกันอย่างนี้เรื่อยไป ก็จะกลายเป็นอะไรๆ อีกหลายกลาย…

…………………

ตอนที่ผมเห็นภาพพระพาดสังฆาฏิสีรุ้ง (สำหรับพระเมืองไทย การใช้สังฆาฏิควรใช้กิริยาว่า “พาด” ไม่ใช่ “ห่ม” ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของสังฆาฏินั้นคือใช้ “ห่ม” เหมือนจีวร และอันที่จริงสังฆาฏิก็คือจีวรผืนที่ ๒ นั่นเอง ใช้ห่มซ้อนเป็น ๒ ชั้นในฤดูกาลที่อากาศหนาว แต่อากาศในเมืองไทยไม่หนาวมากถึงขั้นต้องห่มจีวร ๒ ชั้น แต่จะไม่เอาติดตัวไว้ก็ไม่ได้ เพราะมีพระวินัยกำหนดให้ครองจีวรครบ ๓ ผืน พระไทยจึงพับสังฆาฏิเพื่อนำติดตัวไปได้สะดวก แล้วเลยใช้พาดบ่าเพราะจะได้ไม่ต้องถือให้เกะกะ นี่คือที่มาของการใช้สังฆาฏิพาดบ่า)

วงเล็บยาวไปหน่อย ขออภัย เริ่มใหม่ – 

ตอนที่ผมเห็นภาพพระพาดสังฆาฏิสีรุ้ง แวบแรกที่ผมคิดก็คือ พระวัดไหน?

คนสมัยก่อนเห็นพระที่ไม่รู้จัก จะถามกันเป็นประโยคแรกว่า “พระวัดไหน” 

ทำไมจึงต้องถามถึงวัด? ผมยังไม่เคยได้ยินใครอธิบาย จึงได้แต่สันนิษฐานว่า พระต้องมีวัดที่สังกัด (เหมือนทหารต้องมีกรมกองที่สังกัด) พระกับวัดจึงเป็นสิ่งที่พ่วงกันอยู่ อีกประการหนึ่ง วัดเป็นที่ฝึกอบรมสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่างในระหว่างที่บวชอยู่ วัดจึงมีฐานะเป็นโรงเรียนหรือเป็น “สำนักศึกษา” และแต่ละวัดก็จะมีจุดเด่นมากน้อยแตกต่างกันไป จุดเด่นของแต่ละวัดจะเป็นประกาศนียบัตรหรือเครื่องรับรองคุณภาพของพระที่สังกัดวัดนั้นๆ ไปในตัว เช่น – 

ถ้าเป็นพระวัดมหาธาตุ ก็จะเด่นในทางการศึกษา

ถ้าเป็นพระวัดโพธิ์ ก็จะเด่นในทางตำรา

ถ้าเป็นพระวัดบวร ก็จะเด่นทางระเบียบแบบแผน

(เป็นความเด่นสมมุติพอเป็นตัวอย่างนะครับ จริงๆ เด่นทางไหนต้องไปสืบเอาเอง)

เพราะเช่นนี้ คนสมัยก่อนพอเห็นพระจึงต้องถามก่อนว่า อยู่วัดไหน 

แต่สมัยนี้สังเกตดู ความสำคัญของวัดลดลงไปมาก วัดกำลังจะมีฐานะเป็นเพียง “หอพักของพระ” เข้าไปทุกที เดี๋ยวนี้แม้ในวงการพระเองก็นิยมบอกชื่อพระโดยไม่บอกชื่อวัดที่สังกัดกันมากขึ้น พร้อมกับหันไปเน้นบอกวุฒิการศึกษาที่ไม่ใช่ทางพระปริยัติธรรม และบอกตำแหน่งทางวิชาการหรือทางการปกครองเป็นจุดเด่น

ตอนเห็นภาพพระพาดสังฆาฏิสีรุ้งที่มีผู้เอามาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก แวบแรกที่ผมคิดคือ พระวัดไหน? แล้วสงสัยต่อไปทันทีว่า วัดที่ท่านสังกัดอนุญาตให้พระใช้สังฆาฏิสีรุ้งได้อย่างไร 

ถ้ารู้ว่าท่านอยู่วัดไหนก็จะได้สอบถามข้อเท็จจริงไปยังวัดนั้น และหาข้อมูลด้วยว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ 

ไม่เห็นใครเอ่ยถึงวัดที่สังกัด เอาภาพพิลึกๆ มาเผยแพร่ แต่ไม่มีข้อมูลว่าพระวัดไหน แบบนี้ก็ผิดปกติแล้ว

หลายคนกระโดดเข้าใส่ทันทีตามธรรมชาติของคนส่วนมาก เห็นแล้วก็ได้แต่ปลง ปลงให้ทั้งคนที่ทำภาพนั้นขึ้นมา และทั้งคนที่กระโดดใส่

นี่เป็นตัวอย่างสดๆ ของการที่ไม่ตรวจสอบก่อนจะชอบหรือชัง

ในยุคที่การสร้างภาพลวง-ข่าวเท็จสามารถทำได้ง่ายและทำได้อย่างเนียน การตรวจสอบก่อนจะชอบหรือชังก็ยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุด

นอกจากภาพแล้ว เสียงพูดที่ตัดต่อก็นิยมทำกันทั่วไป ใครฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปเล่นด้วยก็เป็นเรื่องอีก 

แม้ข้อความที่คนเขียนให้อ่านก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน 

อ่านไม่หมด 

อ่านไม่จบ 

อ่านไม่แหลก 

อ่านไม่แตก 

แล้วชอบหรือชังไปตามความเข้าใจของคนอ่าน ก็เป็นเหตุให้ชมผิดข้าง ชังผิดคนกันอยู่เสมอ

ท่ามกลางข่าวสารข้อมูลท่วมโลกเช่นทุกวันนี้ ขอให้ชาวเรามีอุตสาหะในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เสพสารอย่างมีสติ และละเอียดถี่ถ้วนกันให้มากขึ้นเถิด 

ขอให้ช่วยกันยึดหลักว่า

ถ้ายังไม่ได้ตรวจสอบ อย่าเพิ่งชอบหรือชัง

แม้ตรวจสอบแล้วก็ยังต้องระวัง อย่าเพิ่งชังหรือชอบใครง่ายๆ

คนที่กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน อยู่ด้วยกัน หรือนอนด้วยกันแท้ๆ ลงท้ายออกมารับสารภาพว่า-ดูคนผิดไป ก็มีอยู่เยอะไป 

นี่แค่เห็นภาพ ฟังเสียง อ่านสาร ยังไม่เคยเห็นตัว ยังไม่เคยคุยกันสักคำ จะรีบรักรีบเกลียดไปถึงไหน

ตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนจะชอบหรือชังนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๐๙:๕๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *