บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หนี้สงฆ์

หนี้สงฆ์

——————————

เรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้ถูก

คำว่า “หนี้สงฆ์” เพิ่งจะนิยมพูดกันเมื่อไม่นานปีมานี้ เริ่มจากที่มีผู้ไปปฏิบัติธรรมที่วัด ๓ วัน ๗ วัน กินข้าววัด นอนที่วัด ใช้น้ำใช้ไฟวัด บวกกับความรู้เดิมที่ว่าของวัดเป็น “ของสงฆ์” และของสงฆ์นั้นเป็นของสูง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์บริโภคใช้สอยได้ เมื่อตนซึ่งเป็นชาวบ้านไปกินไปใช้ของวัด จึงรู้สึกขึ้นว่าเป็นหนี้วัด คือ “หนี้สงฆ์” คนที่รู้สึกเช่นนี้จึงมักบริจาคเงินให้วัดนั้นโดยตั้งเจตนาว่าเป็นการใช้หนี้สงฆ์ นิยมเรียกกันว่า “ชำระหนี้สงฆ์”

ความรู้สึกว่าเป็น “หนี้สงฆ์” นั้น เกิดจากอัธยาศัยที่ละเอียดอ่อนอันเป็นพื้นจิตของคนไทยที่มีใจเป็นกุศลมาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จากหลักความประพฤติหลายๆ อย่างของคนโบราณ เช่น —

เมื่อเดินออกจากวัดต้องเคาะดินที่ติดรองเท้าออกเสียก่อน เพื่อมิให้ของสงฆ์ติดกลับไปที่บ้าน 

บางทีจะเข้าวัดต้องถือดินไปโยนไว้ในวัดก้อนหนึ่งเพื่อชดเชยเวลาเดินออกจากวัดมีดินวัดติดเท้าไป

ยืมของวัดไปใช้เมื่อมีงานบุญที่บ้าน เวลาเอามาคืนต้องคืนให้มากกว่าจำนวนที่ยืม เช่นยืมจานไป ๑๐๐ ใบ ต้องเอามาคืน ๑๑๐ ใบเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการใช้ของสงฆ์เปล่าๆ

………………………

อันที่จริง การที่ญาติโยมไปอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด-รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาที่ไปถืออุโบสถศีลนอนค้างวัดในวันพระ-เป็นสิ่งที่สงฆ์ยินดีพอใจต้อนรับอยู่แล้ว นั่นเท่ากับสงฆ์อนุญาตให้กินให้ใช้ของสงฆ์อยู่แล้วในตัว จึงไม่เป็นโทษและไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นหนี้สงฆ์แต่ประการใด

อนึ่ง ในทางธรรม แสดงหลักคำสอนเรื่องการบริโภคใช้สอยของสงฆ์หมวดหนึ่งว่า ลักษณะที่ภิกษุสงฆ์บริโภคใช้สอยของสงฆ์หรือของที่ชาวบ้านถวายมามี ๔ อย่าง คือ —

…………………….

(๑) เถยบริโภค (บริโภคอย่างเป็นขโมย) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์ แต่ละเมิดศีลธรรม

(๒) อิณบริโภค (บริโภคอย่างเป็นหนี้) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์ มีศีลมีธรรม แต่บริโภคใช้สอยโดยไม่มีสติ กิน-ใช้เพื่อความสนุกสนาน ติดสุขติดสบาย หรืออวดหรูหรา

(๓) ทายัชบริโภค (บริโภคอย่างเป็นทายาท) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์แล้วปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบันจนถึงอนาคามี

(๔) สามีบริโภค (บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ) = บริโภคใช้สอยของสงฆ์แล้วปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

…………………….

เอาหลักคำสอนเรื่องการบริโภคใช้สอยของสงฆ์ โดยเฉพาะข้อ (๑) และข้อ (๒) มาเทียบ อาจช่วยใช้เข้าใจความคิดเรื่อง “หนี้สงฆ์” ได้ชัดขึ้น

ตั้งหลักกันที่มีคนสร้างวัดขึ้น เราเข้าใจกันว่าวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่อให้พระเณรอยู่ 

พระเณรอยู่วัด ใช้ของวัด ใช้ของสงฆ์ แต่ก็ไม่เคยมีใครพูดว่าพระเณรเป็นหนี้สงฆ์ เหตุผลเดียวก็เพราะท่านเป็นพระเป็นเณร และวัดสร้างให้พระเณรอยู่ เท่ากับท่านอยู่บ้านท่านเอง เจ้าของบ้านไม่ต้องเป็นหนี้ตัวเอง

แต่พอเราชาวบ้านเข้าไปใช้ของวัดใช้ของสงฆ์ชั่วครั้งชั่วคราว กลับรู้สึกกันว่าเราเป็นหนี้สงฆ์ เหตุผลเดียวก็เพราะเราไม่ใช่พระเณร เราไม่มีสิทธิ์ไปใช้ของสงฆ์ 

แต่เราลืมไปว่า วัดไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่ของพระเณรเท่านั้น แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบกิจอื่นๆ ทางพระศาสนาอีกด้วย 

อันที่จริงถ้าจะพูดให้ถูก ต้องพูดว่า เราสร้างวัดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบกิจทางพระศาสนา พระเณรทำหน้าที่ดูแลสถานที่ และเพื่อความสะดวกจึงพักอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เข้าไปทำกิจทางพระศาสนาในวัด ก็ย่อมตรงกับวัตถุประสงค์ของการสร้างวัดอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีใครเป็นหนี้ใคร

เทียบกับโรงแรม โรงแรมสร้างขึ้นเพื่อให้คนเข้าไปพักและเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ โดยต้องเสียค่าใช้จ่าย ใครเข้าไปพัก เข้าไปทำกิจกรรม ถ้าไม่จ่าย นั่นคือเป็นหนี้โรงแรม 

แต่วัดไม่ใช่เช่นนั้น วัดเป็นที่ประกอบกิจทางพระศาสนา เราเข้าไปประกอบกิจทางพระศาสนาในวัด จึงไม่ต้องเป็นหนี้วัด ก็คือไม่ต้องเป็นหนี้สงฆ์นั่นเอง 

แต่ถ้าเราเข้าไปทำกิจอย่างอื่นที่ไม่ใช่กิจทางพระศาสนา – นั่นแหละที่ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป โดยเอาหลักคำสอนเรื่องการบริโภคใช้สอยของสงฆ์ ข้อ (๑) และข้อ (๒) มาเทียบ

…………………….

(๑) เถยบริโภค = บริโภคอย่างเป็นขโมย 

ที่วัด ของวัด เขาสร้างไว้ให้คนมีศีลใช้สอย ตัวเองไม่มีศีล ทุศีล หรือละเมิดศีล ก็เท่ากับไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ที่จะใช้ เมื่อไปอยู่ไปใช้ของวัดจึงเท่ากับลักขโมยเขาอยู่เขาใช้

ใครเข้าไปทำกิจกรรมในวัด เป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับพระศาสนา ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม ย่อมเข้าข่าย “เถยบริโภค” ใช้ของวัดของสงฆ์อย่างเป็นขโมย

ไม่ใช่แค่เป็นหนี้ แต่เป็นขโมยเลยทีเดียว

(๒) อิณบริโภค = บริโภคอย่างเป็นหนี้ 

อยู่ในวัด ใช้ของวัด รักษาศีลบริสุทธิ์ทุกข้อ แต่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่จำเริญสมถะ ไม่จำเริญวิปัสสนา ไม่จำเริญสติ อย่างนี้รอดจากฐานะขโมยเขาอยู่ขโมยเขาใช้ เพราะมีศีลย่อมมีสิทธิ์อยู่มีสิทธิ์ใช้ แต่เพราะไม่ปฏิบัติธรรม จึงเท่ากับยังเป็นหนี้วัดเป็นหนี้สงฆ์

เข้าไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับพระศาสนาในวัด เช่นไปทำบุญ ไปปฏิบัติธรรม ๓ วัน ๕ วัน ในระหว่างนั้นไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่มีจิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น คุยเล่นกันสนุกสนาน ย่อมเข้าข่าย “อิณบริโภค” ใช้ของวัดของสงฆ์อย่างเป็นหนี้

ถ้าจะเรียกว่า “หนี้สงฆ์” น่าจะเข้าลักษณะอย่างที่ว่านี้

แล้วลองพิจารณาดู – 

เราเข้าไปอยู่ไปใช้ของวัดของสงฆ์โดยไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม 

จึงเกิดเป็น “หนี้สงฆ์” 

แล้วเรา “ชำระหนี้สงฆ์” ด้วยจ่ายจ่ายเงิน! 

เป็นหนี้การปฏิบัติธรรม

แต่ชำระหนี้ด้วยเงิน

เป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องแล้วหรือ?

เป็นหนี้การปฏิบัติธรรม ก็ต้องชำระหนี้ด้วยการตั้งใจปฏิบัติธรรมแก้ตัว จึงจะถูกต้อง

ส่วนการบริจาคเงินโดยเข้าใจว่าเป็นการ “ชำระหนี้สงฆ์” ก็ต้องตั้งอารมณ์ ตั้งความรู้สึก ตั้งเจตนากันใหม่ให้ถูกกับเรื่อง 

คือตั้งเจตนาเป็นการบำรุงวัดบำรุงพระศาสนา เพื่อให้วัดให้สงฆ์มีกำลังบริหารจัดการให้วัดเป็นสถานที่อำนวยประโยชน์ในการทำกิจทางพระศาสนาต่อไปได้อีก 

ไม่ใช่ตั้งเจตนาบริจาคเงิน “ชำระหนี้สงฆ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดๆ

“หนี้สงฆ์” เกิดจากการไปกินไปนอนในวัดแล้วไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม

จะชำระหนี้สงฆ์ได้ก็ด้วยการตั้งใจปฏิบัติธรรมแก้ตัว

ไม่ใช่-ด้วยการบริจาคเงิน

…………………….

หมายเหตุ: 

ผมไม่แน่ใจว่า ญาติมิตรที่อ่านเรื่องนี้แล้วจะเข้าใจเจตนาของผมผู้เขียนได้แค่ไหน ดังนั้น ถ้าท่านผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือมีหลักฐานเป็นอย่างอื่น ก็ย่อมแสดงความคิดเห็น (ในทางสร้างสรรค์) ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๗:๔๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *