บาลีวันละคำ

พุทธมนต์พิธีธุราทร (บาลีวันละคำ 3,297)

พุทธมนต์พิธีธุราทร 

อันความรู้รู้กระจ่างถึงอย่างเดียว

แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล

(จาก นิติสารสาธก)

อ่านว่า พุด-ทะ-มน-พิ-ที-ทุ-รา-ทอน

แยกคำตามประสงค์เป็น พุทธมนต์ + พิธี + ธุราทร 

(๑) “พุทธมนต์” 

อ่านว่า พุด-ทะ-มน แยกศัพท์เป็น พุทธ + มนต์ 

(ก) “พุทธ” บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

(ข) “มนต์” บาลีเป็น “มนฺต” (มัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มนฺ + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” 

(2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + (อะ) ปัจจัย

: มนฺต + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา

มนฺต” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีมีความหมายดังต่อไปนี้ –

1 ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)

2 คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)

3 ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)

4 คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)

5 เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)

6 สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)

7 ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)

มนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “มนต์” ตามบาลี และ “มนตร์” ตามสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มนฺตฺร : (คำนาม) ‘มนตร์,’ ภาคพระเวท; คูฒกาพย์; สูตร์อันเปนบุณยะแด่เทพดาองค์ใดองค์หนึ่ง, ดุจ ‘โอม วิษณเว นมหฺ’; การหรือคำหารือลับ; a division of the Vedas; a mystical versa; a formula sacred to any individual deity, as, ‘Om Vishṇave namah’; sacred consultation.” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนต์, มนตร์ : (คำนาม) คําศักดิ์สิทธิ์, คําสําหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์, คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์. (ป. มนฺต; ส. มนฺตฺร).”

(๒) “พิธี” 

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ” 

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

ในที่นี้แปลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย : วิธิ > พิธิ และแปลงเสียง อิ ที่ ธิ เป็น อี : พิธิ > พิธี 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

พิธี : (คำนาม) งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่น ทำให้ถูกพิธี; การกําหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุพิธีในเทพพู้น. (ม. คําหลวง ทศพร). (ป., ส. วิธิ).”

(๓) “ธุราทร” 

อ่านว่า ทุ-รา-ทอน แยกศัพท์เป็น ธุร + อาทร 

(ก) “ธุร” บาลีอ่านว่า ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ ธุพฺพิ และลบ พฺพ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ > ธุ)

: ธุพฺพิ + อร = ธุพฺพิร > ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน

(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุรฺ)

: ธรฺ + = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้

ธุร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)

(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)

(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)

(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)

(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทำ, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่อง, เรื่องส่วนตัว, เช่น นี่เป็นธุระของฉัน ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”

(ข) “อาทร” บาลีอ่านว่า อา-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ, เคารพ) + (อะ) ปัจจัย 

: อา + ทรฺ = อาทรฺ + = อาทร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง” หมายถึง ความกลัวเกรง, ความคำนึงถึง, ความนับถือ, ความเอาใจใส่, ความเคารพ, เกียรติ (consideration of, esteem, regard, respect, reverence, honour) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาทร : (คำนาม) ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่, ความห่วงใย. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

(๑) พุทฺธ + มนฺต = พุทฺธมนฺต > พุทธมนต์ แปลว่า “มนต์ของพระพุทธเจ้า” 

ขยายความ :

คำว่า “พุทธมนต์” ในความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนา หมายถึงหลักคำสอนทั้งมวลของพระพุทธเจ้าอันนำไปสู่ปัญญารู้แจ้งจริงจนหลุดพ้นเป็นอิสระจากสรรพาสวกิเลส 

คำว่า “พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์” ที่เราเอามาเรียกในบุญพิธีนั้น มูลเหตุเดิมก็คือพระสงฆ์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้พุทธบริษัทได้สดับนั่นเอง

(๒) พุทธมนต์ + พิธี = พุทธมนต์พิธี แปลว่า “พิธีอันมีการสาธยายพุทธมนต์” 

(๓) พุทธมนต์พิธี + ธุร = พุทธมนต์พิธีธุร แปลว่า “หน้าที่หรือกิจอันพึงกระทำเกี่ยวด้วยพิธีอันมีการสาธยายพุทธมนต์” 

(๔) พุทธมนต์พิธีธุร + อาทร = พุทธมนต์พิธีธุราทร แปลว่า “ผู้ขวนขวายในกิจอันพึงกระทำเกี่ยวด้วยพิธีอันมีการสาธยายพุทธมนต์” หมายถึง ผู้เอาเป็นธุระในการรวบรวมบทสวดมนต์อันจะพึงใช้ในพิธีการต่างๆ ขึ้นเป็นตำราหรือหนังสือคู่มือ ในกรณีนี้ก็คือผู้รวบรวมจัดทำหนังสือที่รู้จักและเรียกขานกันติดปากว่า “มนต์พิธี” 

หมายเหตุ : คำแปลในที่นี้เป็นความหมายนัยหนึ่งตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำเท่านั้น

ขยายความ :

พุทธมนต์พิธีธุราทร” เป็นสร้อยนามสมณศักดิ์วรรคหนึ่งของ “พระราชวัชรรังษี” ซึ่งเดิมเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ “พระครูอรุณธรรมรังษี” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

พระครูอรุณธรรมรังษี นามเดิม เอี่ยม นามสกุล สุภราช ภูมิลำเนาเดิมบ้านพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2476 

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.2493 อายุ 17 ปี 

อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2496 อายุ 20 ปี 

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูอรุณธรรมรังษี” เมื่อ พ.ศ.2534 อายุ 58 

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2549 อายุ 73 

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชวัชรรังษี” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2564 อายุ 88

…………………………………

พระครูอรุณธรรมรังษี เป็น พระราชวัชรรังษี พุทธมนต์พิธีธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๔ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆรักษ์ ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ที่มา:

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/B/032/T_0001.PDF

…………………………………

ดูก่อนภราดา!

ผู้รู้ท่านไม่ได้บอกแต่เพียงว่า – 

: อันยศลาภหาบไปไม่ได้แน่ 

แต่ท่านยังบอกต่อไปอีกว่า – 

: เว้นเสียแต่ต้นทุนบุญกุศล 

วันนี้ท่านได้ทำบุญกุศลบ้างหรือยัง?

ถ้ายัง รีบทำซะ

#บาลีวันละคำ (3,297)

22-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *