บาลีวันละคำ

สมฺปฏิจฺฉามิ (บาลีวันละคำ 3,299)

สมฺปฏิจฺฉามิ

ไม่ใช่ “สัมปจิตฉามิ” หรือ “สัมปติจฉามิ” 

สมฺปฏิจฺฉามิ” อ่านว่า สำ-ปะ-ติด-ฉา-มิ

เขียนแบบคำอ่าน: “สัมปะฏิจฉามิ

…………..

มีข้อความเป็นภาษาบาลี เรียกกันว่า “คาถาเงินล้าน” นิยมท่องบ่นและเผยแพร่กันอยู่ทั่วไป คำขึ้นต้นว่า “สัมปจิตฉามิ …” ตอนลงท้ายมีอีกคำหนึ่งว่า “สัมปติจฉามิ …”

เท่าที่ตรวจสอบดูแล้ว สะกดเป็น “สัมปจิตฉามิ” และ “สัมปติจฉามิ” ทั้งนั้น

มีผู้ถามว่า “สัมปจิตฉามิ” แปลว่าอะไร?

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในคัมภีร์แล้ว ไม่พบคำที่สะกด “สัมปจิตฉามิ” หรือ “สัมปติจฉามิ” มีแต่ “สมฺปฏิจฺฉามิ

สมฺปฏิจฺฉามิ” เป็นคำกริยาประเภท “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาต, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง สฺ ที่สุดธาตุกับ ปัจจัย เป็น จฺฉ (อิสฺ + > อิจฺฉ) (หรือจะว่า แปลง อิสฺ เป็น อิจฺฉ ก็ได้), ทีฆะ อะ ที่ เป็น อา ด้วยอำนาจ มิ วิภัตติ

: สํ + ปฏิ + อิสฺ = สํปฏิสฺ + = สํปฏิส + มิ = สํปฏิสมิ > สมฺปฏิสมิ > สมฺปฏิจฺฉมิ > สมฺปฏิจฺฉามิ (สำ-ปะ-ติด-ฉา-มิ) แปลว่า “ข้าพเจ้ายอมรับ” 

สมฺปฏิจฺฉามิ” เป็นคำกริยาแสดงการกระทำของตัวผู้พูดเอง ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อุตตมบุรุษ” แปลว่า “บุรุษสูงสุด” หมายถึงตัวผู้พูดเอง

แถม :

“บุรุษ” ในบาลีไวยากรณ์มี 3 บุรุษ คือ –

(1) ประถมบุรุษ แปลว่า “บุรุษต้น” = ผู้ที่ถูกพูดถึง (เขา, หล่อน, มัน = he, she, it)

(2) มัธยมบุรุษ แปลว่า “บุรุษท่ามกลาง” = ผู้ที่เราพูดด้วย (เจ้า, ท่าน, คุณ = you)

(3) อุตตมบุรุษ แปลว่า “บุรุษสูงสุด” = ตัวเราเอง (ข้าพเจ้า, ฉัน = I) 

…………..

สมฺปฏิจฺฉามิ” ถ้าเป็นรูปกริยาสามัญ คือประถมบุรุษ จะเป็น “สมฺปฏิจฺฉติ” (สำ-ปะ-ติด-ฉะ-ติ) แปลว่า รับ, ยอมรับ, ถือเอา (to accept, receive, take)

อภิปรายขยายความ :

สมฺปฏิจฺฉามิ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “สัมปะฏิจฉามิ

สัมปะฏิจฉามิ” ที่กลายเป็น “สัมปจิตฉามิ” หรือ “สัมปติจฉามิ” น่าจะเกิดจากการเขียนตามเสียงที่ได้ยิน ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” (คำบาลีที่ออกจากปากสู่หู) ผู้พูดอาจพูดถูกต้องว่า “สัมปะฏิจฉามิ” แต่คนเขียนหรือคนจดได้ยินเป็นอย่างอื่นหรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น หรือได้ยินเช่นนั้นแหละ แต่สะกดไม่เป็นหรือเขียนไม่ถูก จึงสะกดเป็น “สัมปจิตฉามิ” หรือ “สัมปติจฉามิ” และอาจเป็นไปด้วยว่า คนพูดคนแรกนั่นเองก็เข้าใจไปว่าคำนี้สะกดเป็น “สัมปจิตฉามิ” หรือ “สัมปติจฉามิ” จึงเขียนออกมาอย่างนั้น 

เมื่อเขียนออกมาแล้ว ก็ไม่มีใครตรวจสอบเทียบทานว่าผิดถูกเป็นอย่างไร ท่องกันไป คัดลอกต่อๆ กันไป และเอาไปพิมพ์เผยแพร่ต่อไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้มากเข้าก็กลายเป็นข้ออ้างไปในตัว – “ที่ไหนๆ เขาก็เขียนอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ” ใครมาบอกแก้หรือทักท้วงเข้าอาจกลายเป็นฝ่ายผิดไปเสียเอง

คำหนึ่งที่ผิดเห็นชัดๆ อยู่ในคาถานี้ คือคำว่า “ปะรายันติ” 

ประโยคเต็มว่า “สัพเพยักขา ปะรายันติ”

คำที่ถูกต้องคือ “ปะลายันติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปลายนฺติ” -ลา- ล ลิง ไม่ใช่ -รา- ร เรือ (สัพเพยักขา ก็เขียนผิด ที่ถูกต้องแยกเป็น 2 คำ คือ สัพเพ / ยักขา)

ปลายนฺติ” แปลว่า “ย่อมหนีไป

“ปะรายันติ” ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไร

“สัพเพ ยักขา ปะลายันติ” แปลว่า “ยักษ์ทั้งหมดย่อมหนีไป

นี่เป็นข้อพิสูจน์ชัดๆ ว่า เขียนกันไป คัดลอกกันไป พิมพ์เผยแพร่กันไป โดยไม่ได้ตรวจสอบเทียบทานใดๆ คำผิดก็คงผิดอยู่เช่นนั้น และแพร่หลายมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

คนเรียนบาลีก็เรียนไป

คนเผยแพร่คำผิดก็เผยแพร่ไป

ไม่มีใครเอาเป็นธุระ เอาใจใส่ แก้ไขใดๆ ทั้งๆ ที่เราสนับสนุนส่งเสริมการเรียนบาลีกันอึกทึกครึกโครม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดผิดก็ขลังได้ถ้าใจตั้ง

: คาถาขลังและถูกด้วยจะสวยกว่า

: ใครนับถือขอชื่นชมสมศรัทธา

: ถ้าศึกษาอีกสักนิดศักดิ์สิทธิ์จริง

———–

ตามคำถามของ Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya

#บาลีวันละคำ (3,299)

24-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *