บาลีวันละคำ

ทานะ (บาลีวันละคำ 3,295)

ทานะ

รู้จักให้

คำในพระสูตร: ทานญฺจ (ทา-นัน-จะ) 

ทานะ” อ่านว่า ทา-นะ

ทานะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ทาน” อ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป; 

ทาน 2 คือ 

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ 

2. ธรรมทาน ให้ธรรม; 

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ 

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม 

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทาน ๑, ทาน– : (คำนาม)  การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในสังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม. (ดู สังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม).”

อภิปรายขยายความ :

มงคลข้อที่ 15 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ทานญฺจ” (ทา-นัน-จะ) แปลว่า “การให้ ประการหนึ่ง” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

15. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ — Dāna: charity; liberality; generosity)

…………..

ทานะ” = รู้จักให้ หรือมักพูดทับศัพท์ว่า “ทาน” มีหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลไพบูลย์ ซึ่งขอให้คำว่า “เจตนาสามกาล” ได้แก่ –

(1) ปุพพเจตนา (ปุบ-พะ-) (ความตั้งใจในเบื้องต้น) = เจตนาก่อนจะทำ 

(2) มุญจนเจตนา (มุน-จะ-นะ-) (แปลตามศัพท์ว่า “ความตั้งใจในการปล่อย”) = เจตนาในขณะทำ คือขณะปล่อยสิ่งของออกจากมือเพื่อให้แก่ผู้อื่น (เน้นที่ “ทานการให้”)

เจตนาที่ 2 นี้คำเดิมท่านเรียก “สันนิฏฐาปกเจตนา” แปลตามศัพท์ว่า “ความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ” หมายถึงเจตนาในขณะลงมือทำและทำจนสำเร็จ

(3) อปรเจตนา หรือ อปราปรเจตนา (อะ-ปะ-ระ- หรือ อะ-ปะ-รา-ปะ-ระ-) (ความตั้งใจต่อมา) = เจตนาสืบเนื่องต่อมาจากการกระทำนั้น หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำสำเร็จแล้ว

ท่านสอนว่า ควรถวายทานหรือให้ทานด้วยเจตนาที่ครบทั้งสามกาล คือ –

(1) ก่อนให้ มีใจยินดี (ปุพพเจตนา)

(2) ขณะให้ ทำใจผ่องใส (มุญจนเจตนา)

(3) ให้แล้ว ชื่นชมปลื้มใจ (อปรเจตนา)

แถม :

ท่านว่า ผู้ที่ทำบุญให้ทานแล้วรู้สึกเสียดายในภายหลัง ผลแห่งทานย่อมทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ผลแห่งอปรเจตนาที่ไม่ผ่องใส จะทำให้ไม่ได้เสวยสุขอันเกิดจากสมบัตินั้น กล่าวคือ “รวย แต่ไม่มีความสุข

พระพุทธพจน์ :

ปุพฺเพว  ทานา  สุมโน

ททํ  จิตฺตํ  ปสาทเย

ทตฺวา  อตฺตมโน  โหติ

เอสา  ยญฺญสฺส  สมฺปทา.

(ทานสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต 

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๘)

ก่อนให้ ก็ปลอดโปร่ง

กำลังให้ ก็เปรมปรีดิ์

ให้แล้ว ก็ปลาบปลื้ม

บุญที่สมบูรณ์เป็นดั่งนี้

…………..

ในคัมภีร์ท่านแสดงเหตุผลที่ “ทานะ = รู้จักให้” เป็นมงคลไว้ดังนี้ –

…………..

ตํ  พหุชนสฺส  ปิยตาทีนํ  ทิฏฺฐธมฺมิกสมฺปรายิกานํ  ผลวิเสสานํ  อธิคมเหตุโต  มงฺคลํ. 

ทานะนั้นชื่อว่าเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุบรรลุผลพิเศษอันเป็นไปในทิฏฐธรรม (คือในชาติปัจจุบันทันตาเห็น) และสัมปรายภพ (คือชาติหน้า) มีความเป็นผู้เป็นที่รักแห่งชนมากเป็นต้น 

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 23 หน้า 18

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความเป็นเศรษฐีไม่ได้วัดกันที่มีกี่ล้าน

: แต่วัดกันที่เคยทำทานบ้างหรือเปล่า

—————–

#บาลีวันละคำ (3,295) (ชุดมงคล 38)

20-6-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *