ธัมมจริยา (บาลีวันละคำ 3,296)
ประพฤติธรรม
คำในพระสูตร: ธมฺมจริยา จ (ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา จะ)
“ธัมมจริยา” อ่านว่า ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา
แยกศัพท์เป็น ธัมม + จริยา
(๑) “ธัมม”
อ่านว่า ทำ-มะ เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” (มีจุดใต้ มฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” ในภาษาไทยนิยมเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้สะกดตามรูปบาลีเป็น “ธัมม”
(๒) “จริยา”
บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จรฺ + อิย = จริย + อา = จริยา
อีกนัยหนึ่ง จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), ลง อิ อาคมหน้า ย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จรฺ + ณฺย = จรณฺย > จรย > จริย + อา = จริยา
“จริยา” เป็นอิตถีลิงค์ และพึงทราบว่าศัพท์นี้ไม่ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ คงได้รูปเป็น “จริย” (จะ-ริ-ยะ) (นปุงสกลิงค์) ก็มี
จริย, จริยา แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “จริย” และ “จริยา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) จริย– : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคำสมาส เช่น จริยศึกษา. (ป.).
(2) จริยา : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคําสมาส เช่น ธรรมจริยา.
ธมฺม + จริยา = ธมฺมจริยา (ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา) แปลว่า “การประพฤติธรรม”
บาลี “ธมฺมจริยา” ภาษาไทยในที่นี้สะกดเป็น “ธัมมจริยา”
ในคัมภีร์ท่านไขความ “ธัมมจริยา” ไว้หลายนัย เช่น:
– การประพฤติกุศลกรรมบถ 10 ประการ ชื่อว่าธัมมจริยา
– กุศลกรรมบถ 10 ประการ ชื่อว่าความประพฤติธรรมและความประพฤติถูกต้อง
– ความประพฤติธรรมหรือความประพฤติไม่ปราศจากธรรม ชื่อว่าธัมมจริยา
– ความประพฤติธรรม คือกระทำตามธรรม ชื่อว่าธัมมจริยา
“ธมฺมจริยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “ธรรมจริยา” บอกไว้ว่า –
“ธรรมจริยา : (คำนาม) การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกธรรม. (ส. ธรฺม + ป. จริยา).”
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ธรรมจรรยา” อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรรมจรณะ, ธรรมจรรยา : (คำนาม) การประพฤติถูกธรรม. (ส.).”
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 16 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ธมฺมจริยา จ” (ทำ-มะ-จะ-ริ-ยา จะ) แปลว่า “การประพฤติธรรม” ไขความว่า การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
16. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม — Dhammacariyā: righteous conduct)
…………..
ในคัมภีร์ท่านแสดงเหตุผลที่ “ธัมมจริยา = การประพฤติธรรม” เป็นมงคลไว้ดังนี้ –
…………..
สา สคฺคุปฺปตฺยาทิเหตุโต มงฺคลนฺติ เวทิตพฺพา.
การประพฤติธรรมนั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งอิฐผลมีความเกิดในสวรรค์เป็นต้น
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 55 หน้า 46
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนยารักษาโรค
เพียงการรู้จักตัวยา
รู้สรรพคุณยาอย่างลึกซึ้ง
และแม้แต่สามารถปรุงยาได้อย่างถูกวิธี
: แต่จะมีประโยชน์ดังฤๅ
: ถ้ายังไม่ได้ลงมือใช้ยา
#บาลีวันละคำ (3,296) (ชุดมงคล 38)
21-6-64