จุลกฐิน
จุลกฐิน
———
ก่อนจะไปถึงเรื่องจุลกฐิน เบื้องต้นนี้ขอเสนอความรู้เกี่ยวกับคำว่า “กฐิน” จากพจนานุกรมก่อน ขออำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้ที่ไม่ถนัดจะเปิดพจนานุกรม (เมื่อไรจึงจะถนัดก็ไม่อาจทราบได้!) ด้วยการยกคำว่า “กฐิน” มาแสดงไว้ในที่นี้
ในพจนานุกรม คำสำคัญที่ต้องการเน้นท่านทำเป็นอักษรตัวเอน แต่ในเฟซบุ๊กนี้ผมทำให้เป็นตัวเอนไม่เป็น จึงขอใช้เครื่องหมายอัญประกาศหรือที่มักเรียกกันว่าเครื่องหมายคำพูดที่คำเน้นนั้นๆ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
………………….
กฐิน, กฐิน- : (คำนาม)
(๑) ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร
(๒) คำ “กฐิน” นี้ ใช้ประกอบกับคำอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน –
ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า “ผ้ากฐิน” —
ในฤดูกาลเรียกว่า “กฐินกาล” [กะถินนะกาน] คือระยะเวลาตั้งแต่แรมคํ่าหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกเป็นสามัญว่า “เทศกาลกฐิน” [เทดสะกานกะถิน] “ฤดูกฐิน” หรือ “หน้ากฐิน” ก็มี
ก่อนจะถึงกฐินกาล ผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใดจะต้องไปแจ้งความจำนงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจำนงล่วงหน้านี้ เรียกว่า “จองกฐิน”
การทำพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า “ทอดกฐิน”
พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัย เรียกว่า “ผู้กรานกฐิน” “ผู้ครองกฐิน” หรือ “องค์ครองกฐิน”
เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า “องค์กฐิน”
ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสำหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า “เครื่องกฐิน” หรือ “บริวารกฐิน” [บอริวานกะถิน]
เมื่อนำผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวนแห่ เรียกว่า “แห่กฐิน”
ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า “ฉลองกฐิน”
การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธีอนุโมทนาต่อองค์ครองกฐินตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า “อนุโมทนากฐิน” [อะนุโมทะนากะถิน]
ภิกษุสงฆ์ผู้ได้อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็น “ผู้กรานกฐิน” ด้วย
ผลของการทอดกฐิน เรียกว่า “อานิสงส์กฐิน”, ในทางวินัยสิทธิพิเศษ ๕ ประการซึ่งมีแก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ก็เรียกว่า “อานิสงส์กฐิน” เช่นกัน.
………………….
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง “จุลกฐิน”
คำว่า “จุลกฐิน” รูปคำเป็นบาลี แต่ไม่พบคำนี้ในคัมภีร์ จึงเป็นบาลีแต่รูป ส่วนความหมายเป็นไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
“จุลกฐิน : (คำนาม) เรียกพิธีทอดกฐินที่ต้องทําตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ เย็บ ย้อมผ้ากฐิน และถวายสงฆ์ให้เสร็จในวันเดียว, โดยปริยายหมายความว่า งานที่ต้องทําอย่างชุลมุนวุ่นวายเพื่อให้เสร็จทันเวลาอันจํากัด.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “จุลกฐิน” ไว้ดังนี้ –
…………………….
จุลกฐิน : “กฐินน้อย”, “กฐินจิ๋ว”, กฐินวันเดียวเสร็จ, พิธีทำบุญทอดกฐินแบบหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาในประเพณีไทย (บางถิ่นเรียกว่ากฐินแล่น) โดยมีกำหนดว่า ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ ตัด เย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง (ตามปกติทำเป็นสบง คงเพราะเป็นผืนเล็กที่สุด ทันได้ง่าย) ย้อม และนำผ้ากฐินไปทอดถวายแก่พระสงฆ์ ให้ทันภายในวันเดียว (พระสงฆ์ได้รับแล้ว ก็จะทำการกรานกฐิน และอนุโมทนาเสร็จในวันนั้นตามธรรมดาของพระวินัย การทั้งหมดของทุกฝ่ายจึงเป็นอันเสร็จในวันเดียวกัน), เหตุที่นิยมทำและถือว่าเป็นบุญมาก คงเพราะต้องสำเร็จด้วยความสามัคคีของคนจำนวนมากที่ทำงานกันอย่างแข็งขันขมีขมันและประสานกันอย่างดียิ่ง; โดยปริยาย หมายถึงงานที่ต้องทำเร่งด่วนอย่างชุลมุนวุ่นวายเพื่อให้เสร็จทันเวลาอันจำกัด
…………………….
สันนิษฐานความเป็นมา:
สาเหตุที่เกิดจุลกฐินผู้รู้ท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะมีวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน และเจ้าภาพรู้เข้าในวันสุดท้ายที่จะหมดเขตทอดกฐิน (วันสุดท้ายที่จะทอดกฐินได้คือวันกลางเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง) เมื่อรู้เช่นนั้นก็มีศรัทธาประสงค์จะสงเคราะห์พระให้ได้รับอานิสงส์กฐิน จึงคิดอ่านทอดกฐินกันในเวลาอันจำกัดนั้น
สมัยโบราณต้องทอผ้าใช้กันเอง ผ้าไตรไม่มีขายดาษดื่นเหมือนเดี๋ยวนี้ จึงจำเป็นจะต้องรีบเก็บฝ้ายมาปั่นด้าย ทอผ้า ทำให้เสร็จในวันนั้น มิเช่นนั้นก็ทอดกฐินไม่ทัน
โดยนัยนี้ มีผู้ให้ความหมายคำว่า “จุล” ว่าหมายถึงมีเวลาน้อย จะแห่แหนและทำพิธีทอดให้สนุกสนานเอิกเกริกเต็มที่เหมือนกฐินปกติก็ทำไม่ทันเพราะใช้เวลาหมดไปกับการเตรียมผ้ากฐิน
และโดยเหตุที่มี “จุลกฐิน” เกิดขึ้นเช่นนี้ กฐินที่ทอดกันตามปกติจึงเรียกเต็มว่า “มหากฐิน” เพื่อให้เข้าคู่กัน – “จุลกฐิน–มหากฐิน” – แต่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “กฐิน” ก็เป็นที่เข้าใจกัน
จุลกฐิน เป็นการแสดงความสามัคคีและแสดงถึงบารมีของเจ้าภาพ ต้องมีคนช่วยกันเต็มที่ และต้องแบ่งหน้าที่กันทำในเวลาอันแสนจะจำกัด ถ้าวางแผนไม่เป็น บริหารจัดการไม่ดี คุมงานไม่เก่งจริงๆ แล้ว เป็นทำไม่สำเร็จ
ข้อเสนอ :
ถ้าอยากจะสนุกในทางบุญ น่าจะมีใครคิดแข่งขันทำจุลกฐินกันบ้าง เป็นการรักษาและส่งเสริมภูมิปัญญาไทยได้ทางหนึ่ง คือเป็นการทดสอบและพัฒนาฝีมือทอผ้าด้วย พิสูจน์บารมีและสามัคคีธรรมในการทำความดีด้วย ได้บุญด้วย เหมาะด้วยประการทั้งปวง
ใครคิด ใครทำ ขออนุโมทนาสาธุการล่วงหน้าครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ กันยายน ๒๕๖๔
๑๑:๒๐